รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อำเภอบางบาล และอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ย้ำทุกจังหวัดดูแลสุขภาพผู้ประสบภัย และป้องกันโรคติดต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไข้เลือดออก หากประชาชนมีไข้สูง 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ขอให้ไปพบรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ส่งทีมสุขภาพจิตติดตามดูแลจิตใจ 4 กลุ่มเสี่ยง คือผู้ป่วยจิตเวชเดิม ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ-เด็ก และผู้ที่ได้รับความสูญเสียรุนแรง และออกหน่วยคัดกรองความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ขณะนี้พบผู้มีความเครียดจากน้ำท่วมแล้ว 354 ราย
วันนี้ (28 กันยายน 2556) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เยี่ยมผู้ประสบภัยที่วัดกอไผ่ ต.บางหลวงโดด โดยมอบยาสามัญประจำบ้านจำนวน 500 ชุด และเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) วัดตะกู อ.บางบาล จากนั้นเดินทางไปอ.เสนา เยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ รพ.สต.หัวเวียง และเยี่ยมผู้ประสบภัยที่ตลาดเทศบาลเสนา พร้อมมอบยาสามัญประจำบ้าน 500 ชุด และชุดมิสเตอร์คลีนสำหรับทำความสะอาดบ้านเรือน จำนวน 200 ชุด
นายสรวงศ์กล่าวว่า ขณะนี้ พบว่าผู้ประสบภัยน้ำท่วมเป็นโรคน้ำกัดเท้าเป็นจำนวนมาก เนื่องจากต้องแช่น้ำ ลุยน้ำนานเพื่อไปทำภารกิจต่างๆ ได้เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ให้แจกยาชุดน้ำท่วม และยารักษาโรคน้ำกัดเท้าแก่ผู้ประสบภัยให้ทั่วถึง และให้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือวอร์รูมน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุข ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจัดส่งยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ป้องกันควบคุมโรค อุปกรณ์การทำงานต่างๆ สนับสนุนให้แก่จังหวัดที่ประสบภัยให้เพียงพอต่อการบริการผู้ประสบภัย ขณะเดียวกัน ได้ให้ทุกพื้นที่เข้มข้นการป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง ที่น่าห่วงคือไข้เลือดออกซึ่งในปีนี้มีผู้ป่วยแล้วกว่า 1 แสนราย ในภาวะน้ำท่วมขังขณะนี้ จะยิ่งทำให้มียุงลายเพิ่มจำนวนมากขึ้น อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ จึงขอแนะนำให้ประชาชนทายาป้องกันยุง นอนในมุ้งป้องกันยุงกัด หากมีไข้สูง 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ขอให้ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่
สำหรับการดูแลด้านสุขภาพจิตใจประชาชนในขณะน้ำท่วม ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข มีทีมสุขภาพจิตครอบคลุมทุกอำเภอ รวม 853 ทีม ประกอบด้วยจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา ทำงานเป็นด่านหน้าทำงานเชิงรุกดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัยในพื้นที่ โดยเฉพาะใน 4 กลุ่มที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ 1.ผู้ป่วยจิตเวชเดิมให้ได้รับยารักษาต่อเนื่อง ป้องกันอาการกำเริบรุนแรง 2.ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 3.ผู้สูงอายุและเด็ก และ4.ผู้ที่ได้รับความสูญเสียอย่างมาก เช่น ทรัพย์สินเสียหายมาก ได้รับบาดเจ็บรุนแรง มีผู้ใกล้ชิดเสียชีวิตจากน้ำท่วม เป็นต้น เพื่อให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพจิตใจตนเอง ป้องกันปัญหาซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง รวมทั้งออกให้บริการร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อคัดกรองความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน รวมทั้งมีทีมจากโรงพยาบาลจิตเวช 18 แห่ง ศูนย์สุขภาพจิต 14 แห่ง และจากกรมสุขภาพจิตเป็นทีมพี่เลี้ยงให้การสนับสนุนการทำงานของพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ จากการประเมินปัญหาสุขภาพจิตผู้ประสบภัย 20,119 ราย พบมีความเครียด 354 ราย โดยมีความเครียดเล็กน้อย 229 ราย เครียดปานกลาง 123 ราย เครียดสูง 2 ราย ซึ่งจะมีระบบติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องสำหรับที่พระนครศรีอยุธยา มีรพ.สต. ที่ได้รับผลกระทบ 7 แห่ง ได้แก่รพ.สต.บางยี่โท อ.บางไทร รพ.สต.หัวเวียง อ.เสนา และที่อ.บางบาล 5 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.น้ำเต้า บางหลวงโดด บ้านคลัง บางบาล วัดตะกู ทุกแห่งเปิดให้บริการได้ตามปกติ
********************************** 28 กันยายน 2556