ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมทางไกลผ่านระบบวีดิโอ ติดตามการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลเจ้าอภัยภูเบศร์ และรพ.ในจังหวัดปราจีนบุรี  ทั้งการป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาล และเตรียมแผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักที่มี 41 รายหากระดับน้ำนอกรพ.สูง 80-85 เซนติเมตร พร้อมทั้งกำชับรพ.ในพื้นที่เสี่ยงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือป้องกันน้ำท่วมจากพายุหวู่ติ๊บ เตรียมระบบวิทยุสื่อสารพร้อมใช้งานหากระบบโทรศัพท์ล่ม

          วันนี้ (1 ตุลาคม 2556) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี และผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ติดตามความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาล ซึ่งเป็นมวลน้ำที่มาจากอำเภอกบินทร์บุรี ว่า ขณะนี้ระดับน้ำภายนอกรพ.สูงประมาณ 25 เซนติเมตร ยังไม่ท่วมเข้าโรงพยาบาล โดยรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ได้เตรียมความพร้อมป้องกันน้ำท่วม การจัดบริการ และแผนการดูแลผู้ป่วยหนัก ซึ่งมีอยู่ 41 ราย หากระดับน้ำภายนอกรพ.สูง 80-85 เซนติเมตร จะตัดสินใจย้ายไปดูแลต่อที่รพ.ค่ายจักรพงษ์ รพ.นครนายก รพ.ฉะเชิงเทรา และจะประเมินสถานการณ์ใกล้ชิดเพื่อตัดสินใจย้ายผู้ป่วยอีกครั้ง หากระดับน้ำเพิ่มจากเดิมอีก 20-30 เซนติเมตร โดยได้ประสานกับทหารในการใช้รถยีเอ็มซีเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักเรียบร้อยแล้ว

          นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการดูแลผู้ประสบภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขนั้น จะมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการ 2 ส่วน คือทีมแพทย์ทางกาย และมีทีมด้านสุขภาพจิต ซึ่งในพื้นที่จะมีจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช ออกดำเนินการ และมีรพ.จิตเวชสระแก้วร่วมดูแล รวมทั้งมีทีมจากกรมสุขภาพจิตพร้อมให้การสนับสนุนเมื่อพื้นที่ร้องขอ ปัญหาสุขภาพที่พบมากในช่วงน้ำท่วมระยะเฉียบพลัน คือโรคน้ำกัดเท้า และความเครียด โดยขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเรือจำนวน 5 ลำให้จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อใช้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และรับส่งเจ้าหน้าที่ และได้ส่งทีมแพทย์ 2 ทีมจากรพ.ชลบุรี และกรมการแพทย์ลงสนับสนุนหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ด้วย เพื่อบรรเทาความอ่อนล้าของทีมในพื้นที่  รวมทั้งส่งยาชุดน้ำท่วมไปพื้นที่แล้วประมาณ 2 แสนชุด และสำรองไว้ที่ส่วนกลางอีก 3 แสนชุด ซึ่งคาดว่าเพียงพอในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น

          ที่น่าห่วงคือ ผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมขณะนี้จำนวน 26 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากการจมน้ำ โดยที่อ.กบินทร์บุรีมี 2 ราย เป็นเด็กและผู้สูงอายุ ได้ให้ทุกจังหวัดให้สุขศึกษาให้ความรู้เรื่องการเล่นน้ำของเด็ก การออกหาปลา และการดื่มสุรา ซึ่งเป็นสาเหตุการจมน้ำเสียชีวิต รวมทั้งเน้นการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในบ้านน้ำท่วม ผู้ป่วยโรคลมชัก โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ให้เตรียมพร้อมเรื่องยา ป้องกันอาการกำเริบ

                นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า สำหรับพายุหวู่ติ๊บที่เข้าสู่ภาคอีสานเหนือของไทย ขณะนี้ได้ให้โรงพยาบาลที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานความเสียหาย สำหรับในภาคกลางที่จะได้รับผลกระทบจากแม่น้ำป่าสัก คือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยโรงพยาบาลที่มีความเสี่ยงคือ โรงพยาบาลท่าเรือ ซึ่งพบว่าได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ไว้แล้ว และขณะนี้ยังไม่มีน้ำท่วม

                ทางด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานวอร์รูมน้ำท่วมกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ให้โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงทุกแห่ง จัดระบบวิทยุสื่อสารสำรองไว้ หากระบบโทรศัพท์ไม่สามารถใช้การได้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในการดูแลช่วยเหลือประชาชน

 **********************  1 ตุลาคม 2556



   
   


View 10    02/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ