บ่ายวันนี้ (3 ตุลาคม 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขว่า ในวันนี้ ได้พิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และกฎกระทรวงที่จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 3 เรื่อง คือ 1.ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร เพราะสถานที่ประกอบอาหารมีหลายประเภท ทั้งโต๊ะจีน แผงลอย ตลาดนัด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชน 2.ร่างพ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะควบคุมการทำการตลาดของบริษัทนมสำหรับเลี้ยงทารกและอาหารสำหรับเด็กเล็ก ไม่ให้มีการโฆษณาเกินจริงหรือการจ่ายเงินสนับสนุน เพื่อไม่ให้มีการส่งเสริมให้ใช้นมผงมาทดแทนนมมารดา แต่ต้องพิจารณาวิธีการปฏิบัติในการควบคุม และมีบางประเด็นเช่นห้ามรับเงินช่วยเหลือทางการตลาด ซึ่งในส่วนราชการสามารถทำได้ แต่จะห้ามภาคเอกชนได้หรือไม่ จะเป็นการรานสิทธิ์หรือไม่ และ3.ร่างพ.ร.บ.ขอแยกหน่วยราชการกระทรวงสาธารณสุข ออกจากสำนักงาน กพ. มาเป็นข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีภาคเอกชนเสนอความคิดเห็น และมีการตั้งคำถามว่า ปัญหาต่างๆ ที่ยกขึ้นไป จะต้องแก้ไขโดยการแยกตัวจาก กพ. หรือไม่ ได้ให้ผู้รับผิดชอบ สรุปความชัดเจนก่อน ยังไม่ได้ออกความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

          นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า สำหรับการจัดทำปฏิทินการปฏิบัติงานการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข ที่เริ่มต้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ทั้งด้านกำลังคน งบประมาณ พื้นที่ ได้ซักซ้อมทำความเข้าใจว่า สิ่งที่กำลังทำ ขณะนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะปฏิรูประบบสาธารณสุข พัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนให้ดีขึ้น เป็นการคิดทบทวน (rethink) และดำเนินการใหม่ (reprocess)  จึงเกิดรูปแบบเป็นเขตบริการขึ้น จุดประสงค์หลักคือให้มีการทำงานร่วมกัน บริหารร่วมกัน บริการร่วมกัน เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองในการซื้อมากขึ้น มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกัน ทั้งหอผู้ป่วย ห้องผ่าตัด เครื่องมือการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ให้คุ้มค่ามากขึ้น และง่ายขึ้น  

          การจัดบริการในรูปแบบเขตบริการ จะเป็นการลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน เช่นโรงพยาบาลศูนย์แน่น ก็ใช้หอผู้ป่วยของโรงพยาบาลอื่นภายในเขต แทนการสร้างอาคารใหม่ และลดการลงทุนที่ไม่จำเป็นของภาครัฐ เช่นอาจใช้หอผู้ป่วยของโรงพยาบาลเอกชน เป็นหอผู้ป่วยพิเศษของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงฯ เพื่อหารายได้เข้าโรงพยาบาลให้มากขึ้น โดยเฉพาะข้าราชการที่ต้องการเตียงพิเศษตามสิทธิที่สามารถเบิกได้ การซักล้าง ห้องแล็บต่างๆ อาจใช้วิธีจ้างจากภายนอกมาทำหรือรับจากภายนอกมาทำ รวมทั้งการจัดบริการร่วมกัน เช่นการดูแลผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ทำให้ประชาชนได้รับการรักษาดีขึ้น อัตราการเสียชีวิตลดลง เพราะมีระบบส่งต่อเดียวกัน
 
          “การดำเนินการครั้งนี้ ทำตามหลักการของ 30 บาท ที่มีการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกันในภาคประชาชน เพราะฉะนั้นภาครัฐต้องมาทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ทำงานตามลำพังของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งไม่มีการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เมื่อเป็นเขตบริการเดียวกันถือเป็นหน่วยบริการเดียวกัน เมื่อมีปัญหาต้องช่วยกันแก้ไข แบ่งปันกัน ไม่ได้บริหารโดยมีผู้มีอำนาจเด็ดขาด โดยจะมีการบริหารเป็นเขตบริการ ผู้ให้บริการก็จะปกครองกันเองตามลำดับของผู้ให้บริการ หากเป็นระดับพื้นที่ จะมีภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วย ไม่ใช่ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปยึดอำนาจในการดูแลทั้งหมด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ในการให้บริการ จะต้องมีอำนาจในการบริหารจัดการการบริการ ดูแลโรงพยาบาลทั้งหมดที่มีอยู่ในเขตนั้น ส่วนเรื่องงบประมาณในการดูแลสุขภาพ ต้องประชุมร่วมกันกับตัวแทน สปสช. กระทรวงสาธารณสุข ผู้ให้บริการทั้งหมดและภาคประชาชน ว่าจะให้การดูแลสุขภาพของพื้นที่นั้นๆอย่างไร” นายแพทย์ประดิษฐกล่าว
 
ตุลาคม /7***************************************3 ตุลาคม 2556


   
   


View 15    04/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ