“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่น้ำท่วมทุกแห่ง จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทั้งทางรถทางเรือ ให้บริการผู้ประสบภัยต่อเนื่องทุกวัน และส่งทีมเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ให้มีปัญหาขาดยา ผลให้บริการ 17 วัน พบยอดผู้ป่วยสะสม 61,716 ราย ไม่มีโรคระบาด มีความเครียด 616 ราย
วันนี้ (4 ตุลาคม 2556) นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ให้สัมภาษณ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ขณะนี้ ยังมีสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ใน 24 จังหวัด คลี่คลายเข้าสู่ระยะฟื้นฟูแล้ว 9 จังหวัด ได้เน้นย้ำให้พื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขังจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการทุกวัน และจัดทีมเยี่ยมบ้านดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ให้มีปัญหาขาดยา ผลการให้บริการในรอบ 17 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน – 3 ตุลาคม 2556 หน่วยแพทย์ออกให้บริการรวม 1,092 ครั้ง พบผู้ป่วย 61,716 ราย ร้อยละ 41 เป็นโรคน้ำกัดเท้า รองลงมาคือไข้หวัดร้อยละ 30 ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อร้อยละ 15 อุบัติเหตุร้อยละ 10 และวิงเวียน ปวดศีรษะ ร้อยละ 4 ไม่มีโรคระบาด ผลการตรวจประเมินสุขภาพจิตจำนวน 3,838 ราย พบผู้มีความเครียด 616 ราย ในจำนวนนี้ มี217 ราย ต้องให้การดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษ
นายแพทย์ประดิษฐกล่าวต่อว่า ได้เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เฝ้าระวัง ป้องกันโรคติดต่อที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม 9 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคผิวหนัง ตาแดง โรคทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม โรคหัด มือเท้าปาก อุจจาระร่วง ฉี่หนู ไข้เลือดออก และมาลาเรีย รวมทั้งให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคดังกล่าว และได้ให้อาสาสมัครสาธารณสุข ออกเยี่ยมดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่เพื่อดูแลผู้สูงอายุ เด็ก ผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดด้วย ซึ่งได้จัดชุดยาเวชภัณฑ์ที่จำเป็นเป็นชุดปฏิบัติการให้ อสม.ดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยเบื้องต้นได้
ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งยาชุดน้ำท่วมไปยังพื้นที่น้ำท่วมแล้ว 264,000 ชุด สำรองไว้ที่ส่วนกลาง 3 แสนชุด สำหรับที่โรงพยาบาลประจันตคาม ขณะนี้ยังเปิดให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ เทศบาลตำบลพวง อ.เขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี ส่งรถกู้ชีพยกสูงลุยน้ำได้ใช้ในการส่งต่อผู้ป่วย และเรือท้องแบนติดเครื่องยนต์ขนาด 15 ที่นั่ง พร้อมพนักงานขับเรือ สำหรับใช้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปในหมู่บ้านที่น้ำท่วมสูง เช่น ตำบลเกาะลอย ต.บ้านหอย และเทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ จ.ปทุมธานี ส่งรถสุขาเคลื่อนที่ ให้บริการประชาชนและเจ้าหน้าที่รพ.ประจันตคามด้วย เนื่องจากระบบสุขาภิบาลและระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลยังใช้การไม่ได้ วันนี้ น้ำเริ่มลดลง สูงประมาณ 25 เซนติเมตร
ส่วนโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงอื่น เช่น รพ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี รพ.พิมาย จ.นครราชสีมา ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาน้ำท่วม แต่ได้วางระบบการป้องกัน และการดูแลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉิน รวมทั้งการเตรียมแผนโรงพยาบาลสนามในกรณีน้ำท่วมโรงพยาบาลให้บริการไม่ได้
********************************** 4 ตุลาคม 2556