รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม 4 จังหวัดอีสานใต้  คือร้อยเอ็ด  ศรีสะเกษ ยโสธร สุรินทร์ ระดับน้ำลดลง เข้าสู่ระยะการฟื้นฟู มอบนโยบายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรืออสม. แนะนำประชาชนในการป้องกันโรคฉี่หนูหลังน้ำลด ระวังอย่าให้บาดแผลหรือรอยถลอกถูกน้ำ หากป่วย มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดน่องอย่างมาก ขอให้รีบพบแพทย์ มียารักษาหายขาด 

          วันนี้ (5 ตุลาคม 2556) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ เดินทางเยี่ยมประชาชน ให้กำลังใจอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรืออสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม  ณ ที่ว่าการอำเภอจังหวัดร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ยโสธร และสุรินทร์ พร้อมมอบถุงยังชีพ ยาสามัญประจำบ้านให้อสม.

          นายสรวงศ์กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ในน้ำท่วม 33 จังหวัด มีพื้นที่ประสบภัยที่ระดับน้ำเริ่มลด 9 จังหวัด รวมทั้งที่ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ยโสธร และสุรินทร์ ซึ่งเป็นช่วงของการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ โดยในช่วงหลังน้ำลด โรคที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดคือโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) ซึ่งเชื้อโรคที่อยู่ในฉี่ของหนู ทั้งหนูนาหรือหนูบ้าน จะปนเปื้อนอยู่ตามแอ่งน้ำ พื้นดินเป็นดินโคลนชื้นแฉะเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายคนทางบาดแผลหรือแค่รอยถลอก ภายหลังน้ำลดลงประชาชนมักเข้าไปทำความสะอาดบ้านเรือน หากไม่มีการป้องกันดีพอ อาจเสี่ยงติดเชื้อโรคชนิดนี้ได้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เฝ้าระวังโรคฉี่หนูในพื้นที่ประสบภัยและน้ำลดแล้วต่อไปอีก 15 วัน โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย จากรายงานที่ผ่านมายังไม่พบทุกพื้นที่เกิดโรคฉี่หนูแต่อย่างใด

           นายสรวงศ์กล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคฉี่หนู ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำท่วมขัง ควรสวมรองเท้าเช่นรองเท้าบู๊ทยาง กางเกงขายาว หรือถุงมือหนาๆ เมื่อต้องสัมผัสน้ำ เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลขณะเดินย่ำน้ำ ย่ำโคลน หรือระหว่างทำความสะอาดบ้าน หากมีบาดแผลให้ใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่กันน้ำได้ ห่อหุ้มขา และเท้าเพื่อป้องกันน้ำสัมผัสแผล ไม่ควรใช้พลาสเตอร์ปิดแผล เนื่องจากไม่สามารถกันน้ำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และให้รีบชำระล้างร่างกายทันทีเมื่อขึ้นจากน้ำหรือเสร็จภารกิจ

          นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งที่อยู่ของหนู โดยไม่ถ่ายอุจจาระ หรือทิ้งขยะลงน้ำและให้รวบรวมขยะใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้แน่น พยายามลดปริมาณขยะเท่าที่จะทำได้ และหาภาชนะที่มีฝาปิดเป็นที่เก็บรวบขยะ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของสุนัขหรือสัตว์อื่นรวมทั้งหนู และให้สังเกตตนเอง หรือคนในครอบครัวหากมีอาการไข้สูงหนาวสั่น ปวดหัวมาก ตาแดง ปวดน่องอย่างมาก ไม่ควรซื้อยากินเองเพราะอาการดังกล่าวเป็นอาการของโรคฉี่หนู ไม่ใช่การปวดเมื่อยน่องเนื่องจากการทำงานหรือขนของช่วงน้ำท่วม จึงควรรีบพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านโดยเร็ว ซึ่งโรคนี้มียารักษาหายได้ ผู้ที่ติดเชื้อโรคฉี่หนูแล้วไปซื้อยากินเองโดยเฉพาะยาแก้ปวดลดไข้ จะทำให้อาการรุนแรงขึ้นอาจเสียชีวิตจากตับวายหรือไตวายได้ เนื่องจากยาแก้ปวดลดไข้ไม่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคฉี่หนู    

********************* 5 ตุลาคม 2556



   
   


View 13    05/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ