รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พบผู้ประสบภัยน้ำท่วมเป็นโรคน้ำกัดเท้ามากอันดับ 1 โดยเฉพาะหากท่วมนานหลายวันปัญหาจะมากตามไปด้วย แนะประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขังให้สวมถุงพลาสติกหรือถุงดำหุ้มเท้า เพื่อป้องกันน้ำ แล้วสวมรองเท้าป้องกันขอมีคมทิ่มแทง หากไม่มีขอให้รีบชำระล้างเท้า ฟอกสบู่แล้เช็ดให้แห้งสนิทโดยเฉพาะง่ามนิ้ว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องระวังเป็นพิเศษ ควรเลี่ยงลุยน้ำ ย้ำเตือนผู้ที่มีบาดแผลลึกที่เท้า ขอให้ไปรับบริการทำแผลที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกวัน     

          วันนี้ (8 ตุลาคม 2556 ) นายสรวงศ์  เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วยนายแพทย์สมยศ ศรีจารนัย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยที่ตำบลสระขวัญ อ.เมือง และที่อ.อรัญประเทศ  จ.สระแก้ว พร้อมมอบเวชภัณฑ์ยาชุดน้ำท่วมแห่งละ 500 ชุด และเยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน    

นายสรวงศ์กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมทุกวัน จากการตรวจเยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หลายแห่ง พบว่าในช่วงรอบ 7 วันแรกหลังน้ำท่วม จะพบบาดแผลที่เท้าจากการถูกของมีคมบาดจากการขนของหนีน้ำ แต่ในช่วงหลังน้ำท่วม 10 วันขึ้นไป เช่นที่อำเภอกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี  จะพบโรคน้ำกัดเท้ามากขึ้น ยิ่งท่วมขังนานก็จะพบโรคน้ำกัดเท้ามากขึ้นไปด้วย ซึ่งเกิดจากการที่เท้าแช่น้ำเป็นเวลานาน ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง เปื่อยและเป็นแผลได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ควรเลี่ยงการลุยน้ำ เนื่องจากมีโอกาสเกิดแผล และมักไม่รู้ตัวว่ามีบาดแผลที่เท้า ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย รักษาหายยาก

ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนที่จะเดินลุยน้ำ ให้สวมถุงดำหรือถุงพลาสติกหุ้มเท้าและรัดให้แน่นกระชับ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้า และสวมรองทับเพื่อป้องกันการถูกของมีคมบาดหรือทิ่มแทง หากจำเป็นต้องลุยน้ำและไม่มีถุงพลาสติก หลังจากขึ้นจากน้ำให้รีบล้างทำความสะอาดและฟอกสบู่แล้วเช็ดให้แห้งสนิท โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า ทั้งนี้หากรายใดที่มีบาดแผลลึก ขอให้ไปทำความสะอาดแผลที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านหรือที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทุกวัน และให้สังเกตอาการผิดปกติ หากบาดแผลอักเสบ บวมแดง มีหนอง หรือเนื้อที่ขอบแผลมีลักษณะซีด ขอให้พบแพทย์ทันที

ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556  เป็นต้นมา ได้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รวมทั้งหมด 1,175 ครั้ง ผู้รับบริการรวม 70,000 กว่าคน เจ็บป่วยด้วยโรคทั่วๆ ไป มากที่สุดคือน้ำกัดท้า  ไข้หวัด  ปวดเมื่อย โดยได้จัดส่งยาชุดน้ำท่วมไปแล้วกว่า 3 แสนชุด โดยวานนี้ส่งให้ 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์  พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก รวม 55,000 ชุด วันนี้ส่งให้ 2 จังหวัดคือที่ชลบุรี 10,000 ชุด และที่สระแก้ว 5,000 ชุด                         

สำหรับการดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัย  เน้นการเฝ้าระวังพิเศษในกลุ่มโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ครอบครัวผู้สูญเสียทรัพย์สินและมีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม จนถึงขณะนี้ได้ตรวจคัดกรองสุขภาพจิตแล้ว 5,177 คน พบว่ามีความเครียดทั้งหมด 748 ราย ในจำนวนนี้ 243 รายต้องดูแลใกล้ชิดและต่อเนื่อง

ตุลาคม2/1 ***********************        8 ตุลาคม 2556

 



   
   


View 11    08/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ