จากกรณีที่มีข่าวหญิงคลอดที่บ้านและบุตรเสียชีวิต มูลนิธิร่วมกตัญญูนำส่งรพ.รัฐแห่งหนึ่งแต่ถูกปฏิเสธ อ้างว่าเตียงเต็ม เมื่อเวลา 15.30 น.ของวันที่ 13 ตุลาคม 2556 นั้น ในวันนี้ (14 ตุลาคม 2556) นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี  นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม  ร่วมกันแถลงข่าว

นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เร่งติดตามข้อจริงเท็จจริงกรณีดังกล่าว พร้อมให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ติดตามและกำชับให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตทุกสิทธิ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยในช่วงวิกฤตอันตรายต่อชีวิต 
 
สำหรับกรณีหญิงหลังคลอดรายนี้ ได้รับรายงานจากนายแพทย์อุดม เชาวรินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ว่า หญิงหลังคลอดรายนี้ คลอดลูกที่บ้านแล้วลูกเสียชีวิต ทางมูลนิธิฯได้นำมาที่โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 13 ตุลาคม 2556 เพื่อเป็นการขอให้โรงพยาบาลช่วยตรวจชันสูตรศพทารกที่เสียชีวิตและแม่หลังคลอด เพราะอาจจะเป็นคดีเนื่องจากเป็นการคลอดเองที่บ้านและเด็กเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่ที่ห้องฉุกเฉินประจำโรงพยาบาลราชวิถี ได้ซักประวัติทราบว่าหญิงรายนี้ตั้งครรภ์ลูกคนที่ 4 เจ็บครรภ์จะไปคลอดที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลว่าต้องเสียค่าใช้จ่าย ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายแพทย์เวรจึงได้แนะนำให้ไปคลอดโรงพยาบาลของรัฐ แต่ผู้ป่วยไม่ได้ไป
และจากการตรวจร่างกายหญิงหลังคลอด พบสัญญาณชีพปกติดี ทั้งความดันโลหิต ชีพจร และการหายใจ ซึ่งจัดอยู่ในระยะฟื้นตัวของการคลอดโดยทั่วไป ทั้งนี้ เนื่องจากโรงพยาบาลราชวิถีไม่มีแพทย์นิติเวชประจำโรงพยาบาล จึงได้แนะนำให้มูลนิธิฯพาหญิงหลังคลอดและศพทารกไปรับการชันสูตรที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งมีแผนกชันสูตร มีแพทย์นิติเวช และอยู่ไม่ห่างจากโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งทางหญิงหลังคลอดและมูลนิธิฯก็ไม่ได้ขัดข้องหรือมีข้อโต้แย้งใด ๆ 
                                                      
 
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อว่า  อย่างไรก็ตามต้องขอแสดงความเสียใจคุณแม่รายนี้ด้วย ที่ต้องสูญเสียลูกไป และกรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ทั้งโรงพยาบาลเอกชน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงสาธารณสุข โดยกระทรวงสาธารณสุขจะได้ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวโดยละเอียด ว่ากรณีนี้ถือเป็นกรณีเร่งด่วนวิกฤตฉุกเฉินหรือไม่ โรงพยาบาลได้ให้คำแนะนำ หรือดำเนินการส่งรักษาต่อ เป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ ขอเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และเป็นการเรียนรู้ร่วมกันที่จะพัฒนางานบริการสาธารณสุขให้ดีที่สุดสำหรับประชาชน 
                          ********************************************  14 ตุลาคม 2556
 


   
   


View 13    14/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ