กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขัง และน้ำไหลหลาก ระวังอุบัติเหตุจมน้ำ   ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน จนถึงวันนี้  มีผู้เสียชีวิตจากจมน้ำ 55 ราย  พบได้ทั้งกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ วัยทำงาน สาเหตุมาจากการพลัดตกน้ำ เล่นน้ำ เน้นย้ำให้หลีกเลี่ยงเดินทางผ่านบริเวณน้ำไหลหลาก เเม้จะตื้นๆ น้ำลึกเพียง 15 เซนติเมตร ก็ทำให้เสียหลัก ล้มได้ ส่วนด้านการดูแลสุขภาพผู้ประสบภัย พบยอดเจ็บป่วยเพิ่มกว่า 1 แสนราย หน่วยแพทย์จัดบริการเคลื่อนที่เข้าหมู่บ้านทุกวัน
            นายแพทย์ประดิษฐ  สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่าจากการติดตามสถานการณ์ พื้นที่ที่ยังมีปัญหามากในขณะนี้ คือปราจีนบุรี  โดยเฉพาะที่ อำเภอเมือง อำเภอบ้านสร้าง อำเภอประจันตคาม ซึ่งที่อำเภอประจันตคามมีโรงพยาบาลสนามเพื่อช่วยเหลือประชาชน อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งฟื้นฟูโรงพยาบาลประจันตคาม ให้เปิดบริการประชาชนโดยเร็ว ได้มอบให้ฝ่ายวิศวกรรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดำเนินการช่วยเหลือ และได้สั่งการกำชับให้สถานบริการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เตรียมความพร้อมรับมือพายุนารีจะมีผลกระทบประเทศไทยในระยะ
2-3วันนี้

นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวว่า เรื่องที่เป็นห่วงในขณะนี้ก็คือปัญหาจมน้ำ ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 ถึงวันนี้ มีรายงานจมน้ำเสียชีวิต 55 ราย ที่เกิดทั้งในพื้นที่น้ำนิ่งขัง และน้ำไหลเชี่ยว สาเหตุการเสียชีวิต เกิดจากการพลัดตกน้ำ โดยพบในกลุ่มเด็กที่ชอบเล่นน้ำ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์กับอันตรายที่จะเกิดขึ้น ในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากอยู่บ้านตามลำพัง ต้องช่วยเหลือตนเอง ในกลุ่มวัยทำงาน คิดว่าตนเองว่ายน้ำเป็นและสู้กระแสน้ำได้  จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ในปี 2556 พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงจมน้ำสูงกว่าเพศหญิง ถึงร้อยละ 66
ดังนั้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่น้ำท่วมขัง  จะต้องระมัดระวังในการเดินทาง  เนื่องจากสภาพน้ำที่แช่ขังจะเกิดตะไคร่น้ำเกาะที่ตามพื้นผิวต่างๆ ทำให้ลื่นง่าย ผู้ที่ต้องทำทางเดินเข้าบ้าน เช่น สะพานไม้   ขอให้ยกพื้นสูงพ้นน้ำท่วม  เพื่อให้พื้นแห้ง ป้องกันปัญหาการลื่นล้มตกน้ำ  หากเป็นไปได้ควรทำราวไม้เพื่อยึดเกาะขณะเดินเท้า นอกจากนี้ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณน้ำไหลหลาก เเม้จะตื้นๆ น้ำเพียง 15 เซนติเมตร ก็สามารถทำให้เสียหลัก ล้มได้ หากจำเป็นต้องเดินผ่านน้ำไหล  ให้ลองใช้ไม้จุ่มลองน้ำก่อน เพื่อวัดระดับความลึกทุกครั้ง  และประการสำคัญไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ขณะมีน้ำท่วมขังที่บ้านหรือในพื้นที่  เนื่องจากหากมึนเมาจะไม่สามารถประคองตัวได้  อาจจมน้ำเสียชีวิตได้  ทั้งนี้หากพบคนจมน้ำขอให้ตั้งสติ อย่าวู่วามลงไปช่วยทันที  และในการช่วยคนจมน้ำ ควรหาอุปกรณ์ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก เพื่อโยนหรือยื่นช่วยให้คนจมน้ำลอยตัวได้หรอมีที่ยึดเกาะ แล้วลากเข้าฝั่ง หากช่วยด้วยตนเองไม่ได้ให้ตะโกนขอความช่วยเหลือ และโทรแจ้ง1669
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการประเมินปัญหาสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วม พบว่าเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วๆไป อันดับ1 คือโรคน้ำกัดเท้า ทุกพื้นที่ไม่พบปัญหาโรคระบาด กระทรวงสาธารณสุขจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการตามหมู่บ้านต่างๆ ทุกวัน วันละกว่า 80 ทีม   มีผู้ป่วยวันละประมาณ 4,000 ราย ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556- วันนี้ รวม 111,767 ราย ส่วนการดูแลด้านสุขภาพจิตประชาชน ได้กำหนดแผนให้ทุกพื้นที่ติดตามจนถึงหลังน้ำลด โดยตรวจประเมินสุขภาพจิตเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันปัญหาการทำร้ายตัวเองจากความเครียด จนถึงวันนี้ได้ตรวจประเมินสุขภาพจิตในรายที่อยู่ข่ายเฝ้าระวังไปแล้ว 16,589 ราย พบมีความเครียด 1,304 ราย ในจำนวนนี้ติดตามดูแลใกล้ชิด 19 ราย                          
**************************************** 15 ตุลาคม 2556


   
   


View 12    15/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ