กระทรวงสาธารณสุข ป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลพานทอง จังหวัดชลบุรีเต็มที่ ขณะนี้ระดับน้ำรอบรพ.สูง 30 เซนติเมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น กั้นกระสอบทรายสูง 80 เซนติเมตร ติดเครื่องสูบน้ำ 3 ตัว หากน้ำสูงใกล้แนวกระสอบทราย วางแผนย้ายผู้ป่วย 30 คนไปที่รพ.ชลบุรี ส่วนหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พบผู้ป่วยกว่า 110,000 ราย และให้การดูแลสุขภาพจิตผู้มีความเครียดระดับสูง วิตกกังวล นอนไม่หลับ ซึมเศร้า รวม 313 ราย พร้อมย้ำเตือนประชาชนให้ขับถ่ายลงในถุงพลาสติกป้องกันโรคระบาด ขณะนี้พบบางพื้นที่ประชาชนขึ้นไปขับถ่ายบนต้นไม้ลงน้ำ

            นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า พื้นที่ที่กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังใกล้ชิดขณะนี้คือ โรงพยาบาลพานทอง จ.ชลบุรี ซึ่งมีน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ตั้งแต่เวลา 03.00 น.วันนี้จนถึงขณะนี้ (11.00น.) น้ำรอบรพ.สูง 30 เซนติเมตร มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้กั้นแนวกระสอบทรายรอบรพ.สูง 80 เซนติเมตร และติดเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่องสูบน้ำออกตลอดเวลา และให้บริการประชาชนตามปกติ มีผู้ป่วยนอนรักษา 30 ราย หากระดับน้ำสูงใกล้แนวกระสอบทราย จะย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาลชลบุรี และวางแผนเปิดบริการนอก รพ.ที่บริเวณแยกพนัสนิคม ห่างจากรพ.ประมาณ 6 กิโลเมตร โดยรพ.ที่ยังปิดให้บริการอยู่คือรพ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ระดับน้ำท่วมลดลงขณะนี้เหลือประมาณ 20 เซนติเมตร ส่วนรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์และในพื้นที่น้ำท่วมอื่นๆ ยังเปิดบริการตามปกติ

            จากการประเมินการเข้าถึงบริการทางการแพทย์อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในรอบ 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน - 18 ตุลาคม 2556 ออกให้บริการทั้งหมด 1,735 ครั้ง พบผู้ป่วย 117,317 ราย  2 ใน 3 เป็นโรคน้ำกัดเท้า/ผื่นคัน ส่วนด้านสุขภาพจิต ได้ตรวจคัดกรอง 16,782 ราย พบผู้มีความเครียดทั้งหมด 1,442 ราย ในจำนวนนี้ 313 รายต้องดูแลใกล้ชิดและต่อเนื่อง และให้การรักษาด้วยยา 124 ราย อาการของผู้มีความเครียดจะปรากฏออกมาทางกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง วิงเวียน ใจสั่นหวิว หายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ เนื่องจากความเครียดจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลีน ทำให้เส้นเลือดหดตัว กล้ามเนื้อตึงตัว ความดันโลหิตเพิ่ม จึงได้กำชับให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้การดูแลเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว อาจทำให้อาการกำเริบได้

            ทางด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานวอร์รูมน้ำท่วมกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยที่อาศัยอยู่ในบ้านที่น้ำท่วม พบว่าส่วนใหญ่ไม่นอนในมุ้ง และไม่ชำระล้างร่างกายทันทีหลังจากขึ้นจากน้ำ ซึ่งอาจทำให้ป่วยเป็นไข้เลือดออกหรือโรคผิวหนังผื่นคันได้ รวมทั้งเด็กๆ ยังลงเล่นในน้ำท่วม ส่วนผู้ใหญ่มักดื่มสุราเนื่องจากว่างงานและเครียดจากน้ำท่วม ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตจากการจมน้ำได้ ที่สำคัญบางพื้นที่ทิ้งขยะและถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงในน้ำท่วม โดยจะพายเรือออกไปขึ้นไปขับถ่ายบนต้นไม้ลงในน้ำท่วม ซึ่งเป็นการเพิ่มความสกปรกลงในน้ำที่ท่วมขัง อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคอุจจาระร่วง และตาแดงได้ จึงขอแนะนำให้ผู้ประสบภัยถ่ายอุจจาระใส่ในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้สนิท รวบรวมใส่ในถุงดำเพื่อรอการกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป นอกจากนี้ ได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปให้บริการที่ศูนย์พักพิงต่างๆ  และกำชับให้ดูแลสุขาภิบาลน้ำ และขยะ เพื่อป้องกันโรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู เนื่องจากมีผู้ประสบภัยอาศัยรวมกันจำนวนมาก

***********************    18 ตุลาคม 2556



   
   


View 9    18/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ