กระทรวงสาธารณสุขไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการไข้เลือดออกนานาชาติครั้งที่ 3 เพื่อหาแนวทางระดมความร่วมมือพิชิตภัยโรคนี้ เผยสถานการณ์โรคนี้คุกคามสุขภาพประชาชนในกว่า 100ประเทศ ติดเชื้อปีละ50-100ล้านคน เสียชีวิต 25,000ราย นักวิชาการทั่วโลกเร่งพัฒนา 6 เครื่องมือสำคัญพิชิตโรค อาทิ วัคซีน ยาต้านไวรัสจากสารต่อต้านไวรัสไข้เลือดออก นวัตกรรมควบคุมยุงลาย และเทคโนโลยีตรวจวินิจฉัยโรคให้รู้เร็ว คาดการณ์ระดับรุนแรงโรคได้ 

            วันนี้ (21 ตุลาคม 2556) ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ ปาร์ค กทม. นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค และศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์การจัดประชุมไข้เลือดออกนานาชาติฝ่ายไทย เปิดประชุมไข้เลือดออกนานาชาติครั้งที่ 3 ปีนี้ ในประเด็น“ไข้เลือดออกเดงกี่โลก : ความท้าทายและพันธะสัญญาร่วมกัน(Global Dengue : Challenges and Promises) จัดระหว่างวันที่ 21– 23 ตุลาคม 2556 มีนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญไข้เลือดออกกว่า 40 ประเทศ ร่วมประชุมกว่า 700 คน เพื่อหาแนวทางควบคุมป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ
 
             นายแพทย์วิชัยแถลงข่าวภายหลังเปิดการประชุมว่า องค์การอนามัยโลก ได้รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกว่าเป็น 1 ใน 40 โรคที่หวนกลับมาแพร่ระบาดใหม่ กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขในกว่า 100 ประเทศโดยมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกปีละกว่า 50-100 ล้านคน กว่าครึ่งต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ในจำนวนนี้เสียชีวิตปีละกว่า 25,000 ราย และมีประชากรเสี่ยงต่อการเป็นไข้เลือดออกปีละประมาณ 2,500 ล้านคน โดยพบว่าเชื้อโรคไข้เลือดออกมีการพัฒนาตัว และระบาดไปยังพื้นที่ใหม่ๆ รวมทั้งเกิดในประเทศในแถบหนาวด้วย  
ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออกจัดเป็นโรคประจำถิ่นที่มีความรุนแรงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ คือ 1 ,2 ,3 และ4 การติดเชื้อชนิดนี้สายพันธุ์หนึ่ง จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นตลอดไป แต่จะสามารถป้องกันข้ามไปยังสายพันธุ์อื่นได้เพียงชั่วคราว โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จึงทำให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตทุกปี ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ปัญหาหลักที่ทั่วโลกเผชิญคือเข้าถึงการรักษาล่าช้า
 
            นายแพทย์วิชัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกระหว่างพ.ศ. 2551-2558 เนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่มีผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 70 ของผู้ติดเชื้อทั่วโลก เพื่อลดการเสียชีวิตให้ต่ำกว่าร้อยละ 1 และลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงต่อปี ร้อยละ 20 เพิ่มความร่วมมือการควบคุมป้องกันโรคที่รวดเร็ว แลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆที่นักวิจัยได้คิดค้นขึ้น แต่ละประเทศมีแผนป้องกันโรคภายในประเทศและป้องกันแพร่ระบาดไปประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้ดำเนินการรณรงค์ป้องกันควบคุมโรคอย่างเต็มที่จนจำนวนผู้ป่วยใหม่รายสัปดาห์มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง 
 
             ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจัดประชุมโรคไข้เลือดออกนานาชาติในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและนักวิชาการ เปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ได้นำความรู้ และประสบการณ์ในการดำเนินงานป้องกันควบคุมไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์มานำเสนอ พัฒนามาตรการป้องกันควบคุมโรค รวมทั้งก่อให้เกิดความร่วมมือในสาขาต่างๆ นำไปสู่การลดปัญหาไข้เลือดออกได้ในที่สุด โดยสถานการณ์ไข้เลือดออกในประเทศไทยในปีนี้ ถือเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงในรอบ 20ปี โดยข้อมูลตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 15 ตุลาคม ไทยมีผู้ป่วยไข้เลือดออก 135,344 ราย เสียชีวิต 126 ราย มาตรการที่ไทยใช้ในการยับยั้งสถานการณ์ความรุนแรงการระบาด และได้ผลดีขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่การตั้งศูนย์ปฏิบัติการทุกจังหวัดและทุกอำเภอ มีการส่งทีมควบคุมโรคไข้เลือดออกให้มีครอบคลุมและทันเวลา และรณรงค์อย่างต่อเนื่องทั้งในชุมชน โรงเรียน วัดและมัสยิด ทำให้จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมามีรายงานผู้ป่วยสัปดาห์ละ 8,000 ราย ขณะนี้มีรายงานไม่ถึงสัปดาห์ละ 2000 ราย คาดว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจะดีขึ้นเรื่อยๆ  แต่โรคนี้จะต้องทำต่อเนื่อง โดยเฉพาะการควบคุมยุงลาย ซึ่งเป็นตัวการแพร่เชื้อหลักต้องตัดวงจรไม่ให้ยุงมีที่วางไข่ และตัดวงจรไม่ให้ลูกน้ำยุงลายเป็นตัวยุงบินไปกัดคนได้     
 
              ด้านศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์การจัดประชุมไข้เลือดออกนานาชาติฝ่ายไทย กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการปีนี้  มีการบรรยายองค์ความรู้ใหม่ๆในการพิชิตโรคไข้เลือดออก 6 เรื่องใหญ่สำคัญได้แก่ 1.วัคซีนไข้เลือดออก 2.กลไกของสารต่อต้านไวรัสโรคไข้เลือดออก ที่จะนำมาต่อยอดเป็นองค์ความรู้ในการผลิตยาต้านไวรัสไข้เลือดออก 3.เทคโนโลยีใหม่ในการตรวจวินิจฉัยโรค ให้รู้เร็ว และสามารถใช้คาดการณ์ระดับความรุนแรงของโรคได้ 4.นวัตกรรมการควบคุมยุงลาย 5.ระบาดวิทยาที่สำคัญของโรคไข้เลือดออก และ6. กระบวนการขับเคลื่อนพลังสังคมในการรณรงค์ต่อสูกับโรคไข้เลือดออกในชุมชน ซึ่งประเทศไทยได้ทำการศึกษาวิจัยโรคไข้เลือดออกมานานไม่ต่ำกว่า 50 ปี และไทยมีแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการที่ผลิตองค์ความรู้โรคนี้เป็นประโยชน์แก่สังคมโลกมายาวนาน ซึ่งที่ประชุมวิชาการปีนี้ จะมีบรรยายจากนักวิชาการทั่วโลกรวมกว่า 70เรื่อง ซึ่งจะทำให้ทราบองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะเกิดประโยชน์กับการแพทย์และสาธารณสุข ในการจัดการปัญหาโรคไข้เลือดออกเป็นอย่างมาก 
*********************************** 21 ตุลาคม 2556

 



   
   


View 13    21/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ