รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศผลักดันขยายโครงการแก้ไข 4 ปัญหาหลักของนักเรียนวัยประถมศึกษาและมัธยมศึกษา คือ เกม-เพศ-ความรุนแรง-ยาเสพติด ร่วมระหว่างโรงเรียนกับโรงพยาบาลให้ครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ มีศูนย์ให้คำปรึกษาคุณภาพในโรงพยาบาลชุมชน และสร้างนักจิตวิทยาโรงเรียน ดูแลสุขภาพใจเบื้องต้น มั่นใจจะเป็นที่พึ่ง หาทางออกให้นักเรียนที่มีปัญหาอย่างทันการ คาดขณะนี้มีนักเรียน  ราว 2 ล้านคน มีปัญหาทางพฤติกรรมอารมณ์ จำเป็นต้องได้รับการดูแลแก้ไข

             วันนี้ (24 ตุลาคม 2556) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดสัมมนาสรุปโครงการพัฒนาเครือข่ายระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ กทม.ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพัฒนารูปแบบความร่วมมือในการดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพของนักเรียนในพื้นที่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่พ.ศ.2553เป็นที่มาของการจับคู่ดำเนินการในรูปแบบของ “1 โรงพยาบาล 1 โรงเรียน ” เพื่อนำไปขยายผลดำเนินการครอบคลุมทั่วประเทศ
 
             นายสรวงศ์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้ผลกระทบจากปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัวที่มีความขัดแย้ง ส่งผลต่อการเรียนของเด็กนักเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการสำรวจ พบว่าเด็กนักเรียนไทยทั้งระดับประถมศึกษา  และมัธยมศึกษาประมาณ 1ใน 5 หรือประมาณ 2 ล้านคน จากจำนวนเด็กที่มีทั้งหมดประมาณ 10 ล้านคน มีปัญหาทางพฤตกรรมอารมณ์ จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือ อีกทั้งผู้ปกครองส่วนใหญ่ ต่างฝากความหวังไว้กับครูและระบบการศึกษาว่าจะสามารถพัฒนาลูกหลานของตนเองให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
 
             “ ปัญหาหลักที่พบในนักเรียนและวัยรุ่นไทยสมัยนี้ 4 เรื่องหลักได้แก่ การเล่นเกม การใช้สารเสพติด การใช้ความรุนแรง ทะเลาะวิวาทแก้ปัญหาคับข้องใจ และเรื่องเพศ โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และเกิดการตั้งครรภ์ขณะนี้ยังเรียน” จึงต้องเร่งแก้ไข ป้องกัน เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นฐานการพัฒนาและสร้างเศรษฐกิจไทยในอนาคต นายสรวงศ์กล่าว
 
             นายสรวงศ์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการจึงดำเนินโครงการร่วมกันมาเป็นเวลากว่า3 ปีในโรงเรียน 24 แห่งใน 6จังหวัดได้แก่ พะเยา ร้อยเอ็ด สระแก้ว สมุทรปราการ นครศรีธรรมราชและกทม. โดยพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนทั้งระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา 5เรื่องหลักเป็นผลสำเร็จได้แก่ 1)ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนทั้งระดับประถมและมัธยม 2)การสร้างเครือข่ายการดูแล 3)การพัฒนาระบบการแนะแนว 4)การศึกษารูปแบบนักจิตวิทยาโรงเรียน และ5)พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียน พบว่าประสบความสำเร็จเห็นภาพการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียน จึงเห็นว่าเป็นนโยบายสำคัญประกาศผลักดันเป็นนโยบายดำเนินการทั่วประเทศในโครงการ 1โรงพยาบาล 1โรงเรียน โดยจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาคุณภาพ (Psychosocial Clinic) แก่นักเรียน ในโรงพยาบาลชุมชนขึ้นไป เชื่อมดูแลกับโรงเรียนประจำอำเภอ และสร้าง“นักจิตวิทยาโรงเรียน” ร่วมดูแลสุขภาพใจในเบื้องต้น คลายร้อนเป็นเย็นฟังปัญหานักเรียนให้มาก พูดคุยด้วยเหตุผลและให้ความเมตตานักเรียน โดยจะขยายให้ครอบคลุมทุกอำเภอภายในปี 2557
 
             ทางด้านนายแพทย์อิทธิพล สูงแข็ง รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โครงการพัฒนารูปแบบการแก้ไขปัญหานักเรียนดังกล่าว ได้ดำเนินการร่วมกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สมาคมแนะแนวแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมท์ สถาบันราชานุกูล และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
 
               นายแพทย์อิทธิพล กล่าวต่อว่า จากการติดตามผลโครงการพบว่า นวตกรรมใหม่จากโครงการนี้ คือการมี “นักจิตวิทยาโรงเรียน” เป็นตัวเชื่อมต่อการดูแลระหว่างโรงเรียน กับโรงพยาบาล สามารถดูแลนักเรียนได้อย่างมีคุณภาพ และพบว่า ครูให้ความสำคัญต่อปัญหาสุขภาพจิตนักเรียนในเรื่อง การไม่อยู่ในกฎระเบียบ ปัญหาครอบครัวและความเครียดมากที่สุด ส่วนกิจกรรมด้านส่งเสริมป้องปัญหาสุขภาพจิตส่วนใหญ่คือ กิจกรรมเสริมทักษะชีวิต และสร้างความภาคภูมิใจในคุณค่าตนเอง ส่วนกิจกรรมด้านการบำบัดเด็กที่มีปัญหา ส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับปัญหา พฤติกรรม การเรียน และอารมณ์ โดยพบว่า รูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างสองสายงาน ที่มีเป้าหมายเดียวกันที่เด็กเช่นนี้ ส่งผลให้แนวโน้มปัญหาสุขภาพนักเรียนในกลุ่มเสี่ยงที่เข้าร่วมโครงการลดลง จึงมั่นใจว่าระบบนี้จะช่วยเติมเต็มระบบการดูแลนักเรียน ต่อเนื่องระหว่างโรงเรียนกับโรงพยาบาล เด็กไม่รู้สึกว่า ถูกสังคมโดดเดี่ยว หรือปล่อยให้เผชิญและแก้ไขปัญหาตามลำพังอีกต่อไป โดยกรมสุขภาพจิตจะเร่งขยายการอบรมด้านการดูแลสุขภาพจิตให้เครือข่ายต่างๆทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในภาครัฐ โดยให้หน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิต และโรงพยาบาลจิตเวชทั้ง 17แห่งทั่วประเทศ เป็นศูนย์การพัฒนารวมถึง สนับสนุนการทำงานของเขตบริการสุขภาพ 12 เขตและกทม.
 
**************************24 ตุลาคม 2556


   
   


View 9    24/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ