อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ในเวทีการประชุมโรคไข้เลือดออกนานาชาติครั้งที่ 3 ขณะนี้มี 5 สถาบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก โดย 1 ใน 5 สถาบัน มีการศึกษาและพัฒนาอยู่ในขั้นตอนการศึกษาในกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มใหญ่ขนาด 13,000 คน ในประเทศแถบเอเชียและละตินอเมริกา คาดว่าการศึกษาในระยะที่3จะสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2557   
 
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลการประชุมโรคไข้เลือดออกนานาชาติครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 23 ตุลาคม 2556 ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์คกรุงเทพฯ ว่า ในการประชุมครั้งนี้ หลายประเทศได้เสนอปัญหาของโรคไข้เลือดออก โดยพบว่าสถานการณ์โรคในปีนี้เพิ่มขึ้นและที่ประชุมได้มีบรรยายทางวิชาการเกี่ยวกับความคืบหน้าขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก (Basic science behind the dengue vaccines development) โดยขณะนี้มีวัคซีนไข้เลือดออกที่กำลังพัฒนา ทั้งหมด 2 ชนิด  เป็นชนิดเชื้อเป็น (Live attenuated) และชนิดเชื้อตาย (Inactivated) โดยวัคซีนชนิดเชื้อเป็นนั้นมีสถาบันที่พัฒนา 3 แห่ง คือ บริษัทซาโนฟี ปาสเตอร์ บริษัททาเคดะ และสถาบันสุขภาพแห่งชาติแห่งสหรัฐอเมริกา ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อตายมีสถาบันที่ทำการศึกษา 2 แห่งคือ บริษัทแกลกโซสมิทธ์ไคลน์ และบริษัทเมิร์ค วัคซีนแต่ละชนิดยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะในการที่จะพิสูจน์ว่า วัคซีนนั้นสามารถสร้างภูมิต้านทานต่อโรคไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ (Den1, Den2, Den3 และ Den4) ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และยังต้องอาศัยการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของโครงสร้างและปฏิกิริยาระหว่างภูมิต้านทานกับไวรัสโรคไข้เลือดออก
 
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการกล่าวปาฐกถารำลึกถึงศาสตราจารย์นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อวงการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกในประเทศไทยและในระดับโลก โดยท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกของไทยและของโลกที่คิดค้นพัฒนาวัคซีนไวรัสไข้เลือดออกมาตั้งแต่ปี 2523 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะสามารถมองเห็นผลความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกได้ในระยะอันใกล้นี้ โดยประเทศไทยได้เริ่มพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกมาตั้งแต่พ.ศ. 2541 โดยใช้เทคโนโลยีไคเมอริกซ์ วัคซีน (Chimerix vaccine) และในขณะนี้การศึกษาอยู่ในระยะที่ 3คือการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนไข้เลือดออกในกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มใหญ่ จำนวน 31,000 คน ในประเทศแถบเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยและในกลุ่มประเทศแถบละตินอเมริกา เพื่อดูประสิทธิภาพในการป้องกันโรค โดยคาดว่าการศึกษาในระยะที่ 3 จะสิ้นสุดในพ.ศ. 2557 หากการศึกษาประสบผลสำเร็จ ความหวังที่จะได้มีวัคซีนไข้เลือดออก เป็นเครื่องมือในการป้องกันโรคไข้เลือดออกจะเป็นจริงมากขึ้น 
 
สำหรับสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกนั้น นักระบาดวิทยาในหลายประเทศได้รายงานว่า จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกนั้นมีอยู่หลายประการ เช่นการเพิ่มขึ้นของชุมชนเมือง การเคลื่อนย้ายประชากร การเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนไวรัสเดงกี่ ซึ่งมาตรการหลักในการควบคุมโรคนั้นยังเน้นการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และระบบการเฝ้าระวังโรคในพื้นที่โดยการแจ้งเตือน รวมทั้งการสอบสวนโรคและการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างทันเวลา จะทำให้สามารถจำกัดการแพร่กระจายของโรคและลดจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกลงได้ นายแพทย์โสภณกล่าว 
 
  ***************************************     27 ตุลาคม 2556


   
   


View 9    27/10/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ