“สมศักดิ์” ปักธงภาคอีสานตอนบน นำ อสม.นับคาร์บ มุ่งเป้าลดการป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
- สำนักสารนิเทศ
- 8 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (1พฤศจิกายน 2556) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสามง่าม และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองโสน อ.สามง่าม จ.พิจิตร รับฟังการนำเสนอ การพัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System) อ.สามง่าม และการดำเนินการนโยบายลดความแออัดในการรับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอก ตามแนวคิด โอพีดี ซีโร่ OPD Zero หลังจากนั้นเดินทางไปวัดโนนทอง อ.วชิรบารมี เยี่ยมชมกิจกรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายผู้สูงอายุจังหวัดพิจิตร
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้นำนโยบายเครือข่ายสุขภาพอำเภอ (District Health System) เป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการในระดับพื้นฐานหรือปฐมภูมิให้เกิดคุณภาพ เชื่อมโยงกับบริการในระดับสูงขึ้นคือระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการคือ 1.มีการบริหารจัดการร่วมระหว่างผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) กับสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) อย่างเป็นเอกภาพ เชื่อมโยงด้วยทีมสุขภาพกับประชาชนในชุมชน 2.มีการให้คุณค่าการทำงานของเจ้าหน้าที่และการยอมรับการชื่นชมจากผู้อื่น 3.มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันเช่น บุคลากร งบประมาณ เทคโนโลยี หรือเครื่องมือต่างๆและพัฒนาศักยภาพบุคลากรภายในเครือข่าย 4.มีการจัดบริการสุขภาพที่จำเป็น ตามความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละชุมชน และ 5.ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมดูแลสุขภาพตนเอง ไม่ให้เจ็บป่วย
จังหวัดพิจิตรมี 12 อำเภอ มีเป้าหมายดำเนินการพัฒนาสุขภาพระดับอำเภอครบทุกอำเภอ ได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอทุกอำเภอ กรรมการมาจาก รพช. สสอ. รพ.สต. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรืออปท. และภาคประชาชน มีการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลและ รพ.สต.ตามเกณฑ์คุณภาพ มีระบบการเชื่อมโยงข้อมูลระดับอำเภอ จัดระบบการปรึกษาระหว่างแพทย์ รพช. กับหมอครอบครัว มีแผนงานส่งเสริมสุขภาพ การบริหารจัดการ การใช้ทรัพยากรร่วมกัน การพัฒนาศักยภาพบุคลากร การมีส่วนร่วมกับชุมชน กองทุนสุขภาพตําบล โดยทุกอำเภอกําหนดประเด็นสุขภาพร่วม 1 ประเด็น เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพระดับอำเภอ (One District One Project) โดยปี 2556 ตั้งเป้าหมายพื้นที่ต้นแบบ 4 แห่ง ได้แก่ อำเภอสามง่าม ประเด็นหลักคือการดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและเบาหวานเชิงรุก ภายใต้ชื่อ “โอพีดี ซีโร่” อำเภอตะพานหิน ประเด็นหลักในการขับเคลื่อนคือ “เกษตรปลอดสาร อาหารปลอดภัย” อำเภอบางมูลนากประเด็นหลักคือ “อำเภอคุณธรรม” และอำเภอวชิรบารมี ประเด็นหลักคือการดูแลผู้สูงอายุ
สำหรับเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอสามง่าม ได้กำหนดแนวคิดการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอสามง่าม โดยเริ่มจากแนวคิดโอพีดี ซีโร่ โดยการปรับระบบบริการสุขภาพของโรงพยาบาลแม่ข่าย เพื่อให้ผู้ป่วยมารับบริการเท่าที่จำเป็น (No Walk in) เพื่อให้เกิดระบบบริการสุขภาพที่ใกล้บ้าน ใกล้ใจ และมีคุณภาพมาตรฐาน เริ่มตั้งแต่พ.ศ.2553 เป็นต้นมา โดยกำหนดยุทธศาสตร์ดำเนินงาน 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ปรับระบบบริการของโรงพยาบาล โดยการจัดบริการร่วมกับ รพ.สต.ให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีมาตรฐาน เริ่มจากการส่งต่อผู้ป่วยโรคเรื้อรังไปรับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล 2. พัฒนาศักยภาพ รพ.สต. ทั้งด้านโครงสร้าง ด้านบริการ และด้านบุคลากร และ3.พัฒนาระบบสนับสนุน รพ.สต. เช่น ระบบการให้คำปรึกษา ระบบบริหารเวชภัณฑ์
ในปี 2556 ได้จัดคลินิกบริการด้านคลินิกโรคเรื้อรัง และบริการคลินิกทันตกรรมครอบคลุมทั้งอำเภอ จัดคลินิกบริการโรคเรื้อรังสัปดาห์ละ 2 วัน ภาคเช้าให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยในคลินิก ส่วนภาคบ่ายเป็นบริการเชิงรุกในการส่งเสริมสุขภาพและการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย โดยทีมสหวิชาชีพ มีพยาบาลวิชาชีพเป็นผู้จัดการ เพื่อดูแลระบบบริการในภาพรวม และประสานงานเชื่อมระหว่างโรงพยาบาลและ รพ.สต. ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตนเอง และมีการคืนข้อมูลด้านสุขภาพให้ชุมชนรู้สถานการณ์ความเจ็บป่วยของคนในชุมชน โดยใช้กระบวนการแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ (SRM) ในการขับเคลื่อนสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนกับเจ้าหน้าที่
จากประเมินผลการดำเนินงานในปี 2556 พบว่าประชาชนได้รับความสะดวก ใกล้บ้าน สัดส่วนการรับบริการผู้ป่วยระหว่างรพ.สต. กับโรงพยาบาลสามง่ามที่เป็นแม่ข่าย เท่ากับ 82 :18 จำนวนผู้ป่วยที่ใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลสามง่ามลดลง 50 เปอร์เซ็นต์ จากวันละ 250 รายเหลือวันละ 125 ราย ประชาชนประหยัดค่าใช้จ่ายเดินทางไปโรงพยาบาลสามง่าม คือประหยัดค่าจ้างเหมารถไปโรงพยาบาลได้ถึง 500 บาท/คน/ครั้ง มีการส่งต่อผู้ป่วยโรคเรื้อรังคือเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงไปรับบริการที่ รพ.สต.ร้อยละ 95 ส่งผลดีต่อการรักษา ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 48 เป็นร้อยละ 69 ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ดี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 61 เป็นร้อยละ 62
ส่วนด้านบุคลากร พบว่าได้รับการพัฒนาศักยภาพ ทำงานร่วมกันเป็นทีม เกิดเรียนรู้ร่วมกัน เกิดแรงจูงใจ และความพึงพอใจในการทำงานสูงเกือบร้อยละ 80 เห็นคุณค่าในตนเอง ขณะเดียวกันชุมชนเกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตื่นตัวในการดูแลสุขภาพของตนเอง มีการรวมกลุ่ม สร้างเครือข่ายชมรมต่างๆ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสุขภาพอำเภอสามง่าม (กสอ.) พร้อมทั้งได้กำหนดนโยบาย การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) เป็นประเด็นเร่งด่วนในอำเภอสามง่ามต่อไป ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ได้รับการดูแลช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีและปลอดภัยยิ่งขึ้น
************************ 1 พฤศจิกายน 2556