“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยในปี 2556 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์สะสมประมาณ 1,166,543 คน ยังมีชีวิตอยู่จำนวน 447,640 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 8,959 คน กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรมเร่งวิจัยและพัฒนายาต้านไวรัสเอดส์ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงเท่าเทียมและมีคุณภาพ
นายแพทย์ประดิษฐ กล่าวต่อว่า องค์การเภสัชกรรม ได้วิจัยและพัฒนายาต้านไวรัสเอดส์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 กว่า 25 รายการ มีการพัฒนาสูตรตำรับยาต้านไวรัสเอดส์ทั้งสูตรยาเดี่ยวและยารวม และได้กระจายสู่ผู้ป่วยในปี พ.ศ.2538 จนในปี พ.ศ.2544 ได้ขยายกำลังการผลิตสู่ระดับอุตสาหกรรม พัฒนาสูตรยาต้านไวรัสเอดส์ จีพีโอ -วีไออาร์ เอส 30 (GPO-VIR S30®) โดยรวมยา 3 รายการ ไว้ในเม็ดเดียวกัน ประกอบด้วยเนวิราปีน (nevirapine) 200 มิลลิกรัม, ลามิวูดีน (lamivudine) 150 มิลลิกรัม และสตาวูดีน (stavudine) 50 มิลลิกรัม และยาจีพีโอ -วีไออาร์ แซด 250 (GPO-VIR Z250® ) ประกอบด้วย เนวิราปีน (nevirapine) 200 มิลลิกรัม, ลามิวูดีน (lamivudine) 150 มิลลิกรัม และซิโดวูดีน(zidovudine) 250 มิลลิกรัม โดยได้รับอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสูตรตำรับยารวมนี้ ช่วยให้ผู้ป่วยใช้ยาได้สะดวกขึ้น และลดปัญหาการลืมรับประทานยา ป้องกันการดื้อยาในอนาคต ที่สำคัญช่วยรัฐบาลประหยัดงบค่าใช้จ่ายด้านยาของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จากรายละกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ลดลงเหลือเพียง 699 บาทต่อเดือน รวมทั้งราคายาต้านไวรัสเอดส์ชนิดอื่นๆ ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องจากการวิจัยและผลิตเองขององค์การเภสัชกรรม
ทั้งนี้ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2556 นี้ จะผลิตยาเพิ่มอีก2 รายการเป็นยาชื่อสามัญ คือ ยา ทีโนโฟเวีย ดีเอฟ /เอ็มไตรซิตาไบ (Tenofovir DF/Emtricitabine) ชนิดเม็ดขนาด 300/200 มิลลิกรัม ผสมอยู่ในเม็ดเดียวกัน และยาเอฟฟาไวเรน (Efavirenz) ชนิดเม็ดขนาด 50/200/600 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นยาที่รัฐบาลเคยประกาศการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร หรือซีแอล (Compulsory Licensing : CL)ไปก่อนหน้านี้ ปัจจุบันได้หมดสิทธิบัตรแล้ว องค์การเภสัชกรรมจึงได้วิจัยและผลิตให้มีขนาดของความแรงต่างๆ โดยยาทั้ง 2 รายการ เป็นยาต้านไวรัสเอดส์สูตรตั้งต้น เป็นทางเลือกในการรักษาผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่เพิ่งเข้ารับการรักษาเป็นครั้งแรก หรือสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้ยาสูตรเดิมได้ โดยได้พัฒนาจนสามารถลดจำนวนครั้งที่ต้องรับประทานจากวันละ 2 ครั้ง เหลือรับประทานวันละ 1ครั้ง ช่วยเพิ่มความสะดวกในการกินยาของผู้ป่วย ป้องกันการลืมกินยา อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาจากต่างประเทศได้จำนวนมาก โดยยาใหม่ทั้ง 2 รายการ นี้ มีประสิทธิผลเทียบเท่ายาต้นแบบ
นอกจากนั้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านยา ลดการพึ่งพาวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และเพื่อให้สามารถผลิตยาได้ทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำคือตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงเป็นยาสำเร็จรูป สถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม ประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์วัตถุดิบกลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์ในระดับห้องปฏิบัติการและระดับกึ่งอุตสาหกรรมได้แก่ วัตถุดิบยาทีโนโฟเวีย (Tenofovir) ยาไดโซพรอกซิลฟูมาเมท (disoproxilfumarate) และวัตถุดิบยาเอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) ได้เอง และอยู่ระหว่างดำเนินการในยาชนิดอื่นอีกหลายรายการ และการศึกษาความเป็นไปได้ ความเหมาะสมและคุ้มค่ากับการยกระดับสำหรับการผลิตวัตถุดิบเป็นในระดับอุตสาหกรรม
28 พฤศจิกายน 2556