จิตแพทย์ เผยขณะนี้พบวัยรุ่นมีปัญหาการเรียนร้อยละ 15-30  แนะพ่อปรับทัศนคติ ค่านิยมลูกเรียนเก่ง เรียนดี สอบเอนทรานซ์ติด  จะสร้างความเครียดวัยรุ่นโดยเฉพาะช่วงเตรียมสอบเข้าระดับอุดมศึกษา  ควรสนับสนุนลูกเป็นคนดี มีพฤติกรรมดี   และเป็นที่ปรึกษาให้กำลังใจลูกทันที  ไม่ควรใช้คำว่าเดี๋ยว เนื่องจากเด็กจะเก็บกดปัญหา เกิดความเครียดสะสมรุนแรง เสี่ยงเป็นโรควิตกกังวลและซึมเศร้าจนถึงวัยผู้ใหญ่ ขณะนี้พบได้ประมาณร้อยละ 15-20  แนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-5  ต่อปี

 แพทย์หญิงทิพาวรรณ บูรณสิน  จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นชำนาญการ ประจำสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต  ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงนี้วัยรุ่นใกล้การสอบเอ็นทรานซ์ เพื่อเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา  ซึ่งความคาดหวังเรื่องการเรียนของพ่อแม่เป็นเหมือนกันทุกบ้าน  บางคนคาดหวังโดยไม่เข้าใจศักยภาพของลูกว่า มีมากน้อยแค่ไหน ถ้าความคาดหวังกับความเป็นจริงไม่สอดคล้องกัน ก็จะกลายเป็นความกดดันให้ลูก  ขณะเดียวกันเด็กทุกคนต้องการการยอมรับจากพ่อแม่  และหากพ่อแม่มีความคาดหวังมาก เด็กพยายามทำเต็มที่แล้ว แต่ผลออกมาได้ไม่ดีตามที่คาดหวัง  เด็กจะเกิดความทุกข์ใจ เกิดความกดดัน เสี่ยงเรื่องความซึมเศร้า วิตกกังวล

ศักยภาพของคนมีไม่เท่ากัน   คลินิกสุขภาพจิตวัยรุ่นของสถาบันฯ  พบวัยรุ่นมีปัญหาการเรียนมารับการปรึกษาร้อยละ 15-30  ถือว่ามากพอสมควร   บางคนฉลาดแต่สมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งต่างๆได้นาน หรือบางคนมีความบกพร่องด้านทักษะการเรียนรู้ แม้จะพยายามแล้วแต่ก็ยังไม่เข้าใจ ซึ่งพบได้ร้อยละ 5  เด็กกลุ่มนี้จะต้องการการช่วยเหลือทักษะการเรียนเป็นพิเศษรายบุคคล และเป็นปัญหาสะสมตั้งแต่วัยเรียน วัยประถม พ่อแม่ต้องปรับทัศนคติ โดยเฉพาะค่านิยมเด็กเรียนเก่ง เรียนดี และสอบเอ็นทรานซ์ติด ต้องให้กำลังใจเด็ก เข้าใจเด็ก มีข้อบกพร่องด้านใดต้องพยายามช่วยประคับประคองเด็กตั้งแต่ยังเล็ก ก็จะช่วยลูกลดความเครียดสะสมในเรื่องการเรียนได้

เด็กที่ผิดหวังบ่อยๆ เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่  ซึ่งขณะนี้พบได้ร้อยละ 15 - 20 และแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละประมาณร้อยละ 3  ต่อปี” นอกจากนี้ยังทำให้เกิดโรควิตกกังวล  เด็กขาดความมั่นใจ ขาดความเชื่อมั่นและขาดความศรัทธาตนเอง ขาดศรัทธาในการทำสิ่งดีๆ อีกต่อๆ ไป ซึ่งอันตรายมากเปรียบเสมือนการขาดภูมิคุ้มกันทางจิตใจ เด็กหลายคนอาจมีความประพฤติเด็กเปลี่ยนไปในทางตรงข้าม เช่น จากความประพฤติเรียบร้อยกลายเป็นแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้าน เกเร ต่อต้านสังคม เสี่ยงกระทำผิดกฎหมายได้ เป็นต้น แพทย์หญิงทิพาวรรณกล่าว  

 แพทย์หญิงทิพาวรรณกล่าวต่อว่า พ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่นมักเจอกับปัญหาความไม่เข้าใจกัน  เพราะวัยห่างกัน อาจจะทำให้เด็กไม่กล้าที่จะปรึกษา ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ต้องทำอย่างแรกเมื่อลูกเดินเข้ามาปรึกษาปัญหา คือ 1.ต้องให้เวลาลูก  2.ตั้งใจฟังสิ่งที่ลูกพูด ฟังโดยใช้สติ ไม่ด่วนตัดสิน อย่าใช้อารมณ์  3.ให้กำลังใจและหาทางออกให้เด็กเมื่อเด็กต้องการ  สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งคือ อย่าพูดคำว่าเดี๋ยว  เพราะวัยรุ่นอาจจะรอไม่ได้  และหากเด็กไม่ได้รับคำปรึกษาจากพ่อแม่แล้ว  เด็กก็จะหันไปปรึกษาเพื่อนๆ แทน และได้ทางออกในทางที่ไม่เหมาะสม หรือในกรณีที่เด็กอาจรู้สึกผิดอยู่แล้ว และเมื่อปรึกษาพ่อแม่แล้วโดนตำหนิกระหน่ำซ้ำเติม  ครั้งต่อไปเด็กก็จะปิดบัง ไม่บอกหรือหันไปต่อต้านพ่อแม่  ทำตามเพื่อนในทางที่ไม่ดี ดังนั้นพ่อแม่จึงเป็นบุคคลที่สำคัญมากในการเป็นที่ปรึกษา ช่วยลดความเครียดให้เด็ก  มีงานวิจัยพบว่าเด็กที่ถูกทำโทษหรือครอบครัวใช้ความรุนแรงตั้งแต่วัยเด็ก จะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้   ที่สำคัญคือ ส่งผลกระทบต่อสติปัญญา อารมณ์และสมาธิความจำ

แพทย์หญิงทิพาวรรณยังกล่าวอีกว่า  ในการสร้างค่านิยมใหม่ของพ่อแม่  ควรสนับสนุนเรื่องการเป็นคนดี มีพฤติกรรมดี มีระเบียบวินัย ซื่อสัตย์ อดทน มีน้ำใจ มากกว่าจะดูที่ผลการเรียน เพราะคะแนนเป็นเพียงตัวเลข ควรดูที่ความพยายามของลูก และช่วยพัฒนาจุดอ่อนทางการเรียนรู้  เช่น บางคนอ่านไม่เก่งจับใจความไม่ได้ ก็ควรช่วยชี้แนะให้ทำสรุป ทบทวน ให้กำลังใจและชมเมื่อลูกได้แสดงความพยายาม  บางคนสมาธิความจำไม่ดี วอกแวกได้ง่าย อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและดูแลช่วยเหลือเฉพาะด้าน

การสอบเอ็นทรานซ์เป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งในชีวิต ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต  และคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคือ คนดี มีความรับผิดชอบ เข้ากับคนอื่นได้ง่าย เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่ใช่เฉพาะ คนเก่ง เท่านั้น  ดังนั้นเด็กที่กำลังอยู่ในวัยศึกษา การเรียนถือว่าเป็นหน้าที่หลัก ต้องอดทนและพยายาม  พ่อแม่ควรให้กำลังใจลูกตั้งแต่เด็ก อย่างสม่ำเสมอ สัมพันธภาพที่ดีเปรียบเสมือนเป็นวัคซีนทางใจ วัคซีนสำหรับชีวิตแก่ลูก

ทั้งนี้ วิธีการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจแก่ลูก  ประกอบด้วย  1.ตระหนักรู้ในตัวตนของลูกว่ามีความสามารถอะไร เก่งอะไร อะไรคือจุดอ่อน จุดแข็ง  โดยให้พัฒนาต่อจุดแข็ง และพยายามปรับปรุงจุดอ่อนของลูก    2.สังเกตการปรับตัวของลูกที่โรงเรียน 3.ติดตามเอาใจใส่เรื่องความรับผิดชอบและผลการเรียนอย่างใกล้ชิด 4.คอยประคับประคองช่วยเหลือให้กำลังใจ ยืนข้างๆ ลูก  ถ้าเด็กมีความพยายามและตั้งใจที่ดีก็จะเก่งได้ในวันข้างหน้า และสามารถเป็นที่พึ่งเลี้ยงตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งคนอื่น แพทย์หญิงทิพาวรรณกล่าว 

  ********************************     15 ธันวาคม 2556

 



   
   


View 11    15/12/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ