วันนี้ (20 ธันวาคม 2556) ที่โรงพยาบาลสงฆ์ กทม. นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ส่วนหน้า) กรณีชุมนุมทางการเมือง กระทรวงสาธารณสุข ประชุมทีมแพทย์ฉุกเฉินจากหน่วยงานในสังกัดและมูลนิธิ เพื่อเตรียมพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข รองรับการชุมนุมทางการเมือง  

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขกล่าวว่า ในวันนี้ ได้มีการประชุมเตรียมการรองรับการชุมนุมของกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานในทีม ประกอบด้วย รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตนราชธานี รพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี และรพ.พระมงกุฎฯ ตามแผนเอราวัณ 2  ของกรุงเทพมหานคร  มีทีมกู้ชีพชั้นสูง 9 ทีม และทีมกู้ชีพขั้นพื้นฐานจากมูลนิธิร่วมกตัญญูและปอเต็กตึ๊ง มี 7-14 ทีม คอยดูแลประชาชน

          สำหรับในวันนี้ผู้ชุมนุมจะมีการเดินไปตามจุดต่างๆเช่น ถนนหลานหลวง หัวลำโพง สีลม บางรัก ทีมกู้ชีพกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ทำงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร  สภากาชาดไทยและมูลนิธิฯ ได้ตั้งจุดปฐมพยาบาลดูแลประชาชนที่จะเดินไปตามถนนไว้ 13 จุดดังนี้ 1.สะพานขาว มีทีมกู้ชีพรพ.กลาง 2.เทพศิรินทร์ มีทีมกู้ชีพศูนย์เอราวัณ 3.หัวลำโพง มีทีมกู้ชีพรพ.ลาดกระบัง 4.สามย่าน มีทีมกู้ชีพมูลนิธิร่วมกตัญญู 5.แยกศาลาแดง มีทีมกู้ชีพสภากาชาดไทย 6.ถนนนราธิวาส มีทีมกู้ชีพรพ.สงฆ์และรพ.นพรัตนราชธานี 7.ถนนเจริญกรุง มีทีมกู้ชีพ รพ.เลิดสิน  8.ถนนสี่พระยา มีทีมกู้ชีพรพ.ราชวิถี  9. หัวลำโพง มีทีมกู้ชีพมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง 10.วงเวียนโอเดียน มีทีมกู้ชีพรพ.กลาง 11.ถนนราชวงศ์ มีทีมกู้ชีพมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง 12.วังบูรพา มีทีมกู้ชีพรพ.เจริญกรุง และ13.ลานคนเมือง วัดสุทัศน์ มีทีมกู้ชีพศูนย์เอราวัณ  

                        

          “ในการดูแลผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยฉุกเฉินเรามีระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นการดูแลผู้เจ็บป่วยก่อนนำส่งโรงพยาบาล และการนำส่งไปโรงพยาบาล(Pre-Hospital careและEmergency Transport) มีกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพหลัก ในการจัดบริการประชาชน โดยได้แบ่งพื้นที่เป็น 4 โชน มอบหมายให้โรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานครทุกสังกัดทำงานร่วมกับมูลนิธิฯ ขอยืนยันว่าระบบการแพทย์ฉุกเฉินนี้ยังดำเนินงานได้อยู่ สามารถให้การดูแลประชาชนชาวกรุงเทพมหานครและผู้ชุมนุมได้เป็นอย่างดี” นายแพทย์ณรงค์กล่าว

        

 นอกจากนี้ ยังมีอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญในการดูแลผู้ชุมนุม คือการเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลที่จะเป็นจุดรับส่งต่อกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินคือ รพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎฯ รพ.ราชวิถี   รพ.เลิดสิน และรพ.จุฬาลงกรณ์ได้มีการประสานในการเตรียมเตียง  ยา เวชภัณฑ์ และเลือด สำหรับรองรับผู้ป่วยอย่างเต็มที่  เป็นการดำเนินงานเชิงระบบที่มีการทำอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีที่มีภาคเอกชนและทีมแพทย์อาสา เข้ามาร่วมจัดบริการซ้อนกับระบบของศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร อาจสร้างความสับสนให้กับประชาชน ซึ่งขณะนี้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินในการดูแลคนกรุงเทพมหานครและผู้เข้าร่วมชุมชน กรุงเทพมหานครเป็นผู้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ขอให้ผู้ที่อาสาเข้ามาทำงานเข้าสู่ระบบเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด โดยประสานงานได้ที่ศูนย์เอราวัณ หมายเลขโทรศัพท์ 1646

              ****************************************** 20 ธันวาคม 2556



   
   


View 12    20/12/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ