รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่ายังมิได้นำผลการศึกษาเรื่องแร่ใยหินของกระทรวงสาธารณสุข เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และขอให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ ด้านนายแพทย์   ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันการพิจารณาผลกระทบแร่ใยหินชนิด ไครโซไทล์ เป็นไปด้วยความรอบคอบ ตามหลักฐานเชิงประจักษ์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีส่วนที่เป็นความคิดเห็น ไม่มีนอกมีใน                ต่อฝ่ายใดๆทั้งสิ้น
          วันนี้ (24 ธันวาคม 2556) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ กรณีกลุ่มเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทยหรือ   ที-แบน (T-BAN) ประมาณ 100 คน ได้เดินทางไปที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน ว่ายังมิได้ให้กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอผลการศึกษาของเรื่องแร่ใยหินไครโซไทล์(Chrysotil)เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด และขอให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณา เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยสุขภาพ  ของประชาชน จึงขอยืนยันว่าจะไม่มีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรักษาการใดๆทั้งสิิ้น
          ทางด้านนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขา ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหินไครโซไทล์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมคณะกรรมการทั้งหมด 4 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายได้เชิญสื่อมวลชนและกลุ่มเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย เข้าร่วมรับฟังด้วย เพื่อความโปร่งใส ยืนยันว่าในการประชุมทุกครั้งจะใช้หลักฐานเชิงประจักษ์    ที่ได้จากเอกสารการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ มาเป็นส่วนประกอบในการพิจารณาเป็นหลัก ไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัว เพื่อให้ข้อมูลเป็นที่น่าเชื่อถือ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงใดๆทั้งสิ้น 
          ผลการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการ มีรายงานมีประเทศที่ยกเลิกใช้แร่ใยหินชนิดแอสเบสตอส (Asbestos)   4 ชนิด แล้ว 55 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็ยกเลิกแร่ใยหินอันตราย เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.252 เป็นต้นมา แต่แร่ใยหิน  สีขาวหรือไครโซไทล์ ยังไม่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับแร่ใยหินอันตราย 4  ชนิดที่ยกเลิกไปแล้วตามรอ๊ตเตอร์ดัมคอนเวนชั่น และก่อมะเร็งน้อยกว่า คือมีอัตราก่อมะเร็งเยื่อหุ้มปอด 1 ต่อ 500 และมีอัตราก่อมะเร็งปอด 1 ต่อ 50        โดยข้อมูลทางวิชาการระบุว่าแร่ชนิดนี้สามารถย่อยสลายในปอดภายใน 3 เดือน ไม่สะสมเหมือนแร่ใยหินตัวอื่น ที่อยู่ในปอดได้นานถึง 20 ปี และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าที่ระดับการฟุ้งกระจาย แร่ชนิดนี้ 0.1 ไฟเบอร์ ต่อซีซี.ต่อปี อัตราเป็นมะเร็งไม่แตกต่างกับผู้ไม่ได้รับสัมผัส และจากข้อมูลทางวิชาการยังไม่มีรายงานผู้ใช้ผลิตภัณฑ์    แร่ใยหินเกิดผลกระทบต่อสุขภาพต่อผู้ใช้ทั่วไป พบเฉพาะในผู้ทำงานในเหมืองแร่ ส่วนในโรงงานอุตสาหกรรม   มีงานวิจัยทั้งมีความสัมพันธ์และไม่มีความสัมพันธ์กับการก่อมะเร็ง ได้หารือผู้เชี่ยวชาญองค์กรอนามัยโลกแล้ว   ก็เห็นว่าหลักฐานทั่วโลกยังอ่อน ยังไม่เพียงพอ ซึ่งผลการศึกษาควรเป็นเรื่องที่จะสร้างความเข้าใจของประชาชนดีขึ้น แทนที่จะกังวลจากข่าวสารต่างๆ
 
 
          นายแพทย์ชาญวิทย์กล่าวต่อว่า หลังจากที่ได้ข้อสรุปการประชุมคณะกรรมการ นำเสนอที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่เป็นผู้ตัดสินว่าจะให้ใช้หรือไม่ให้ใช้ ผลกระทบด้านสุขภาพก็เป็นเพียงเหตุผลหนึ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำไปใช้ประกอบร่วมกับปัจจัยและเหตุผลอื่นๆ และดูว่ามีสารทดแทนใช้ได้หรือใช้ไม่ได้อย่างไร สารทดแทนก็ควรต้องมีการศึกษาอย่างเพียงพอเช่นกันด้วย กระทรวงยังมีข้อเสนอให้ติดตามสุขภาพลูกจ้างในโรงงานที่ใช้ไครโซไทล์   จำนวนประมาณ 2,300 คน และปรับมาตรฐานอุตสาหกรรมให้ปลอดภัยต่อไป ขณะนี้รัฐมนตรีก็มิได้เสนอเข้าครม.รักษาการแต่อย่างใด  
************************* 24 ธันวาคม 2556
 


   
   


View 16    24/12/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ