ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ติดตามเยี่ยมความพร้อมโรงพยาบาลในสังกัด ในการรับมือดูแลประชาชนที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรช่วง 7 วันเทศกาลปีใหม่ โดยจัดทีมแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับ พร้อมรถพยาบาล ปฏิบัติการวันละ 13,810 ทีมครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมออกไปดูแลประชาชนภายใน 2 นาทีหลังวางสายรับแจ้ง โดยประชาชนที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร หรือป่วยฉุกเฉินอันตรายถึงแก่ชีวิต สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 1,500 แห่งทุกสังกัดได้ทันที
วันนี้ (28 ธันวาคม 2556) ที่โรงพยาบาลสระบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ และคณะ ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และโรงพยาบาล 4 แห่งที่ตั้งอยู่บนเส้นทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ รับมือเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2557 ได้แก่ โรงพยาบาลมวกเหล็ก จ.สระบุรี โรงพยาบาลสระบุรี โรงพยาบาลวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาและตรวจเยี่ยมจุดตรวจร่วมเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในการรับมืออุบัติเหตุปีเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2557 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมการเพื่อป้องกันและลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุหรือป่วยอื่นๆ อย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่วันที่ 27ธันวาคม 2556จนถึง 2มกราคม 2557 โดยให้แต่ละโรงพยาบาลเตรียมความพร้อมดูแลผู้เจ็บป่วยไว้ 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกได้แก่จัดทีมแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับ รถพยาบาลพร้อมเครื่องมือแพทย์ พร้อมออกปฏิบัติการวันละ 13,810 ทีม สามารถออกไปให้การดูแลช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหลังรับแจ้งภายใน 2 นาที และเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาที โดยประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือพบเห็นผู้บาดเจ็บ สามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ ทางสายด่วนหมายเลข 1669 ฟรีทุกระบบตลอดเวลา
ส่วนที่ 2 เตรียมระบบการดูแลผู้เจ็บป่วยในโรงพยาบาลทุกระดับ โดยจัดกำลังแพทย์เฉพาะทาง แพทย์ทั่วไป พยาบาล เจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉินหรืออีอาร์ (ER) และเจ้าหน้าที่อื่นๆ รวมจำนวน 162,798 คน พร้อมทั้งสำรองคลังเลือดทุกหมู่ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ยา สามารถทำการผ่าตัดได้ทันที และสำรองเตียงผู้ป่วยเพื่อรองรับผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุเป็นการเฉพาะเพิ่มขึ้นจากปกติอีกร้อยละ 10 และมีระบบส่งต่อผู้ป่วยดูแลอย่างไร้รอยต่อ กรณีจำเป็นก็จะมีช่องทางเฉพาะในการส่งต่อเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพรวดเร็วทันเวลา
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า ในการลดความรุนแรง ลดอัตราตายและความพิการของผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้มากที่สุด ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลสังกัดอื่น เช่น กลาโหม ตำรวจ ทบวงมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 1,500แห่ง เตรียมความพร้อมหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์รับแจ้งขอความช่วยเหลือ ระบบการดูแลรักษาในโรงพยาบาล และการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล โดยหากประชาชนบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินอันตรายถึงแก่ชีวิต สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ทันที
*************************************** 28ธันวาคม 2556