ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนป่วยโรคอุจจาระร่วง ช่วงวันหยุดฉลองส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ แนะยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ เมนูจัดเลี้ยงต้องปรุงให้สุก ร้อน สะอาด โดยเฉพาะประเภทยำ ลาบ อาหารทะเล ส่วนผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวหากจะแวะรับประทานอาหาร ให้เลือกร้านที่มีป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อย    

          นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงวันหยุดเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2557 ประชาชนส่วนใหญ่จะนิยมซื้ออาหารไปปรุงเอง หรือสั่งซื้อจากร้านอาหารไปเฉลิมฉลองที่บ้าน หรือออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน เรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงและพบได้บ่อยในช่วงเทศกาลคือ โรคอุจจาระร่วงและโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำไม่สะอาด 
ในการป้องกันโรคดังกล่าว และให้ประชาชนมีความสุขฉลองเทศกาลปีใหม่อย่างถ้วนทั่ว ขอความร่วมมือให้ปฏิบัติดังนี้ กลุ่มผู้ประกอบการ ผู้ปรุงอาหารหรือพ่อครัว แม่ครัว ขอให้ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึง และสะอาด อาหารที่เหลือเก็บต้องอุ่นให้ร้อนก่อนเสิร์ฟทุกครั้ง ผักผลไม้ ต้องล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้มีด เขียง หั่นวัตถุดิบและอาหารปรุงสุกร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรค ดูแลครัวให้สะอาด ส่วนผู้บริโภคขอให้ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม โดยเฉพาะอาหารประเภทปิ้งย่างที่นิยมจัดเลี้ยงปีใหม่ เช่น หมูกระทะ กุ้งกระทะ ขอให้ปิ้งให้สุกก่อน ส่วนผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวหากจะแวะรับประทานอาหาร ขอให้เลือกร้านที่มีป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อยที่รับรองโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข    
           ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมนูที่มักเป็นต้นเหตุของโรคอุจจาระร่วง 10 เมนู ได้แก่ 1.ลาบ ก้อยดิบ เช่น ลาบหมู ก้อยปลาดิบ 2.ย้ำกุ้งเต้น 3.ยำหอยแครง 4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู โดยเฉพาะกรณีที่ทำในปริมาณมากเช่น อาหารกล่องแจกนักท่องเที่ยว 5.อาหารหรือขนมที่ราดด้วยกะทิสด 6.ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ 9.สลัดผัก และ10.น้ำแข็ง อาหารที่ปรุงเลี้ยงจำนวนมาก จะต้องปรุงล่วงหน้าไม่เกิน 4 ชั่วโมง
อาหารประเภทอาหารถุง อาหารกล่อง หรืออาหารห่อพร้อมบริโภค ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และรับประทานภายใน 2-4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ สำหรับส้มตำซึ่งเป็นอาหารยอดนิยม ให้ระวังเป็นพิเศษ  เพราะวัตถุดิบหลายอย่างที่นำมาปรุงอาจปนเปื้อนเชื้อโรคและสารเคมีตกค้าง อาทิปลาร้า ปูดองดิบหรือต้มไม่สุก มะละกอดิบ ผักดิบ พริกขี้หนูที่ล้างไม่สะอาดหรือไม่ได้ล้าง รวมทั้งตัวแม่ค้าที่ไม่ใส่ใจความสะอาดและขาดสุขนิสัยที่ดี อาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ 
          ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2556-16 ธันวาคม 2556 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 124,437 ราย เสียชีวิต 1 ราย โรคอุจจาระร่วง 1,071,076 ราย เสียชีวิต 11ราย ทั้ง 2 โรคนี้ มีอาการใกล้เคียงกันคือมีอาการอาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาจมีไข้ได้ การดูแลเบื้องต้นให้ดื่มผงละลายน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส ซึ่งหาซื้อได้ง่ายในร้านขายยาทั่วไปดื่มแทนน้ำ หรืออาจปรุงดื่มเองโดยใช้น้ำต้มสุก 1 ขวดน้ำปลาใหญ่ หรือประมาณ 750 ซีซี. ผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือแกงครึ่งช้อนชา ผสมให้เข้ากัน ทิ้งให้เย็นและดื่มแทนน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ขอให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน 

 *********************************   29 ธันวาคม 2556



   
   


View 12    29/12/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ