กระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ พร้อมรับมืออุบัติเหตุจราจร ช่วงขากลับ หลังฉลองปีใหม่อย่างเต็มที่  จัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุฉุกเฉินและพยาบาลประจำการที่ห้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะเส้นทางทั้ง 4 ภาคที่มุ่งหน้าเข้ากทม. เตือนระวังเพลีย หลับใน ก่อนเดินทางกลับ ผู้ขับขี่ควรเตรียมร่างกายให้พร้อม นอนพักให้เต็มที่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากง่วงจัด ต้องจอดพักทันทีในที่ปลอดภัย

          วันนี้ ( 31 ธันวาคม 2556) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ว่า  ในวันนี้คาดว่าจะมีประชาชนทยอยเดินทางกลับเข้าสู่กทม.หลังจากหยุดยาวฉลองปีใหม่ กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ เตรียมกำลังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล เจ้าหน้าที่ประจำการห้องฉุกเฉิน หน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน พร้อมรับอุบัติเหตุช่วงขากลับอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะในเส้นทางหลวง      ทั้ง 4 ภาคที่มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร อาทิ ถนนสายเอเชีย ถนนพหลโยธิน ถนนมิตรภาพ ถนนเพชรเกษม ถนนพระราม 2 ถนนมอเตอร์เวย์ ถนนรังสิต-นครนายก และถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี เป็นต้น และจังหวัดแถบปริมณฑล เนื่องจากเป็นจุดที่มักเกิดอุบัติเหตุได้บ่อย  หากประชาชนประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 ตลอดเส้นทาง

          นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ในวันหยุดยาว 5 วันฉลองเทศกาลปีใหม่ ประชาชนอาจมีการดื่มเฉลิมฉลองกันมาก และพักผ่อนไม่เพียงพอ จะเกิดอาการง่วงนอน  ซึ่งหากไปขับขี่ อาจหลับในอย่างไม่รู้ตัว เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้  ทั้งนี้ผลของการง่วง จะทำให้ประสาทสัมผัสทุกอย่างช้าลง สมองตื้อ ตัดสินใจผิดพลาด ใจลอย ไม่มีสมาธิ การสั่งการของสมองไปยังกล้ามเนื้อช้าลง เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน จึงแตะเบรกได้ช้ากว่าปกติ มีผลวิจัยจากต่างประเทศระบุว่า คนที่ง่วงแล้วขับไม่ต่างกับคนเมาแล้วขับ โดยพบว่าคนที่อดนอนติดต่อกัน 18 ชั่วโมง ประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายลดลงเท่ากับคนที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โอกาสเกิดอุบัติเหตุมากกว่าคนที่ไม่ดื่ม 2 เท่าตัว และถ้าอดนอนนาน 24 ชั่วโมง จะเท่ากับมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ความสามารถขับรถลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ โอกาสเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มเป็น 6 เท่าตัว

           ดังนั้น ก่อนเดินทางต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม นอนพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมง งดการดื่มแอลกอฮอล์ ยาที่ทำให้ง่วงซึม วางแผนการเดินทางไกล หาเพื่อนร่วมทางพูดคุย ผลัดกันขับรถ หยุดพักรถทุกๆ 150 กิโลเมตร หรือทุก 2 ชั่วโมง แม้ว่าจะยังไม่รู้สึกเหนื่อย เมื่อรู้สึกง่วงล้า อย่าฝืนขับ ให้เปลี่ยนคนขับ หรือ แวะจอดรถในที่ปลอดภัย และงีบหลับประมาณ 15 นาที ก็จะช่วยได้

                                                                                    **************************  31 ธันวาคม 2556



   
   


View 13    31/12/2556   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ