โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แนะผู้เดินทางหลังฉลองเทศกาลปีใหม่ให้พักผ่อนให้เพียงพอ พร้อมแนะผู้โดยสารรถ ช่วยกันระวัง 8 สัญญาณง่วงของโชเฟอร์ขณะขับรถ อาทิ หาวบ่อย ใจลอย ขับรถส่ายออกนอกเส้นทาง ตาปรือ ต้องให้จอดรถเพื่องีบทันที อย่าให้ฝืนขับเพราะเสี่ยงอันตรายเกิดอุบัติเหตุ หรือเปลี่ยนให้ผู้อื่นขับรถแทน

     วันนี้(1 มกราคม 2557) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าในวันที่ 1 มกราคม 2557คาดประชาชนจะเดินทางกลับเข้าทำงานหลังหยุดยาวฉลองเทศกาลปีใหม่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาหลับใน เนื่องจากเป็นวันส่งท้ายปีเก่าและรับปีใหม่ จะมีการดื่มเฉลิมฉลองกันมาก อาจส่งผลให้พักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดอาการง่วงนอน และอาการเมาค้าง เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีผลทำให้สมองตื้อ อ่อนเพลีย หากขับรถ จะเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุง่ายขึ้น จึงขอย้ำเตือนประชาชนก่อนเดินทางกลับ ขอให้เตรียมตัวล่วงหน้า โดยพักผ่อนให้เต็มที่อย่างน้อย 8 ชั่วโมง งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกินยาที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงซึมได้ เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ยากันชัก เป็นต้น หากหาผู้ผลัดเปลี่ยนขับรถได้จะเป็นการดี

     ทั้งนี้ในระหว่างเดินทาง ขอให้ผู้ขับขี่ และผู้ที่นั่งโดยสารมาด้วย ช่วยกันสังเกตสัญญาณของอาการง่วง หลับในของผู้ขับ ซึ่งมี 8 ประการ ได้แก่ 1.หาวบ่อยและต่อเนื่อง 2.ใจลอยไม่มีสมาธิ 3.รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด กระวนกระวาย 4.จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาในช่วง 2- 3 กิโลเมตรที่ผ่านมา 5.รู้สึกหนักหนังตา ลืมตาไม่ขึ้น ตาปรือ มองเห็นภาพไม่ชัด 6.รู้สึกมึนหนักศีรษะ 7.ขับรถส่ายไปมาหรือออกนอกเส้นทาง และ8.มองข้ามสัญญาณไฟ และป้ายจราจร หากมีอาการดังกล่าวเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ขอให้หยุดขับรถ อย่าฝืนขับเด็ดขาด และจอดรถในที่ปลอดภัยเพื่องีบหลับประมาณ 15 นาที ก่อนขับต่อ หรือเปลี่ยนให้ผู้อื่นขับรถแทน    

     การง่วงนอน มีผลต่อการขับขี่รถ จะทำให้ประสาทสัมผัสทุกอย่างช้าลง สมองตื้อ การตัดสินใจผิดพลาด ใจลอย สมองสั่งการกล้ามเนื้อช้าลง เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน จึงแตะเบรกได้ช้ากว่าปกติ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แม้ว่าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดคือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ก็ตาม จะมีผลต่อการตัดสินใจช้ากว่าปกติถึง 2 เท่าตัว

     สำหรับวิธีการแก้อาการง่วงนอนขณะขับรถ มีหลายวิธี เช่น รับประทานของขบเคี้ยวที่มีรสเปรี้ยวหรือดื่มเครื่องดื่มแช่เย็น จะช่วยให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า หรือใช้วิธีเปิดหน้าต่างรถ เพื่อให้อากาศถ่ายเทและให้ลมปะทะหน้า ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนน๊อกไซด์ในรถ เปิดเพลงฟังดังๆจังหวะเร็ว และร้องตามไปด้วยก็จะช่วยให้ไม่เกิดอาการง่วงนอนได้ แพทย์หญิงพรรณพิมลกล่าว

มกราคม/1     ............................ 1 มกราคม 2557


   
   


View 12    01/01/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ