กระทรวงสาธารณสุขสรุปผล 7 วันช่วงเทศปีใหม่  ทีมกู้ชีพฉุกเฉินออกช่วยเหลือประชาชน 22,848 ครั้ง ถึงจุดเกิดเหตุภายใน 10 นาทีตามมาตรฐานสูงถึงร้อยละ 77 ส่วนการตรวจจับผู้ละเมิดกฎหมายควบคุมเหล้าและคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ ช่วง 7 วัน พบกระทำผิด 168 ราย จาก 7 จังหวัด เป็นเรื่องบุหรี่ 60 ราย เหล้า 108 ราย และพบ 1 ห้างจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย

          นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ผลสรุปการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เจ็บป่วยฉุกเฉิน ช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่ 27 ธันวาคม 2556 - 2 มกราคม 2557 ว่า ได้ผลเป็นที่พอใจ ตลอด 7 วันทีมกู้ชีพฉุกเฉินจากโรงพยาบาลประมาณ 1,000 แห่งทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขออกปฏิบัติการ 22,848 ครั้ง สามารถให้บริการภายใน 10 นาทีตามมาตรฐานได้ร้อยละ 77 จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 23,261 ราย มากที่สุดเป็นอุบัติเหตุทั่วไป 11,234 ราย คิดเป็นร้อยละ 48 รองลงมาคืออุบัติเหตุจราจร 8,407 รายคิดเป็นร้อยละ 36 ที่เหลือเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินทั่วไป เช่น ปวดท้อง โรคเบาหวานกำเริบ โดยโทรขอความช่วยเหลือทางหมายเลข 1669 รวม 16,976 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 73 โดยหน่วยปฏิบัติการที่ออกรับผู้ป่วยเป็นระดับทีมกู้ชีพชั้นสูง (ALS) ร้อยละ 16  ระดับพื้นฐาน (BLS) ร้อยละ 19 และระดับฉุกเฉินเบื้องต้น (FR) ร้อยละ 64 

          ด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่าจากการออกตรวจจับผู้ละเมิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่พ.ศ.2535 ในช่วง 7 วันฉลองปีใหม่ ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์ เลย ลำพูน และเชียงใหม่ จำนวน 274 ราย พบการกระทำผิดและถูกดำเนินคดี 168 ราย โดยเป็นความผิดเรื่องบุหรี่ 60 ราย ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร ซึ่งทั้งบริเวณที่อยู่ในห้องปรับอากาศและบริเวณภายนอกที่มีการบริการอาหารและเครื่องดื่ม ต้องจัดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย  มีโทษปรับสูงสุดรายละ  2 หมื่นบาท

                สำหรับสุราพบการกระทำผิด 108 ราย ความผิดอันดับ 1 ที่พบได้แก่การโฆษณา สื่อสารการตลาด จำนวน 73 ราย มีโทษสูงสุดจำคุก 1 ปี ปรับ 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 5 หมื่นบาทจนกว่าจะเลิกโฆษณา รองลงมาคือการขายด้วยวิธีการลดแลกแจกแถม ชิงโชคชิงรางวัล 30 ราย    มีโทษสูงสุดจำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การขายในสถานที่ต้องห้ามตามกฎหมาย  9 ราย มีโทษสูงสุดจำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และขายให้บุคคลอายุน้อยกว่า 20 ปี จำนวน 2 ราย มีโทษสูงสุดจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้กระทำผิด 1 รายอาจจะทำผิดหลายฐานความผิด

          นายแพทย์สมานกล่าวต่อว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า การตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมายสุราในปีนี้ พบว่ามีการกระทำผิดหลากหลาย เช่น เปิดลานเบียร์ในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ จัดบุฟเฟต์เบียร์ส่งเสริมการขายกินได้ไม่อั้น ที่บริเวณทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเช่นที่เขาใหญ่ และล่าสุดพบ 1 ห้าง ร่วมมือกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดกิจกรรมโฆษณาสื่อสารการตลาด ส่งเสริมการขายเช่น จัดแสดงสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในตู้โชว์ที่ตบแต่งอย่างสวยงาม พร้อมจัดพนักงานสาวสวยจากบริษัทมาคอยดูแลตลอดเวลา และยังมีการจัดกิจกรรมลดราคาเพื่อส่งเสริมการขาย เป็นต้น ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดกฎหมาย จึงถือว่าผิดทั้งกฎหมายและจริยธรรม  จึงต้องมีการเข้มงวดกฎหมายให้เคร่งครัด ประการสำคัญจะต้องสร้างจิตสำนึกแก่ผู้ขายให้คำนึงถึงความปลอดภัยของสังคมและชีวิตประชาชน                         

 ********************* 3 มกราคม 2556



   
   


View 13    03/01/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ