ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคมือเท้าปากในเด็กเล็ก เด็กวัยอนุบาล หลังพบเด็กนักเรียนในกทม.วัย 3 ขวบเศษ เสียชีวิต  7 มกราคม 2557 ผลการตรวจยืนยันติดเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 ขณะนี้เจ้าหน้าที่สธ.ร่วมกับกทม.ควบคุมโรค ปิดเรียน 6 วัน เฝ้าระวังเด็กในห้องเรียนและโรงเรียนเดียวกันเป็นเวลา 15 วัน แนะให้โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็กทุกแห่งทั่วประเทศ ตรวจอาการเด็กทุกเช้า ทำความสะอาดของเด็กเล่นทุกวัน หากพบเด็กมีไข้ มีตุ่มใสขึ้นในปาก ขอให้สงสัยโรคมือเท้าปาก และแจ้งสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้ทั่วประเทศ หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422  ตลอด 24 ชั่วโมง     
จากกรณีพบเด็กวัย 3 ขวบ 7 เดือน นักเรียนโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง ที่เขตคลองเตย กทม. ป่วยและเสียชีวิตจากโรคมือเท้าปาก(Hand Foot Mouth Disease :HFMD) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 ผลการตรวจยืนยันติดเชื้อไวรัสมือเท้าปากสายพันธุ์ อีวี 71  ยังพบมีเด็กนักเรียนโรงเรียนเดียวกัน ป่วยเพิ่มอีกนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้ (9 มกราคม 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งเจ้าหน้าที่สอบสวนเคลื่อนที่เร็วจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 กรมควบคุมโรค ลงควบคุมโรคที่โรงเรียนและติดตามที่บ้านของผู้เสียชีวิตและเด็กป่วยร่วมกับกทม. เมื่อวันที่ 6-7 มกราคม 2557 เพื่อควบคุมโรคและจำกัดการแพร่ระบาดโดยเร็วที่สุด และเฝ้าระวังติดตามอาการเด็กในห้องเดียวกันและทั้งโรงเรียนซึ่งมีนักเรียนประมาณ 200 คน เป็นเวลา 15 วัน ขณะนี้พบเด็กป่วยอีก 2 คน รับตัวดูแลในโรงพยาบาล เบื้องต้นอาการไม่รุนแรงและเก็บอุจจาระส่งตรวจหาชนิดเชื้อไวรัสต่อไป โดยให้โรงเรียนปิดเรียนเป็นเวลา 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 7-12 มกราคม 2557 ทำความสะอาดห้องเรียน ห้องน้ำ ของเล่น เครื่องใช้ต่างๆ เพื่อทำลายเชื้อโรค โดยกระทรวงสาธารณสุขจะให้ความรู้โรคมือเท้าปาก ให้คำแนะนำครูพี่เลี้ยงในการตรวจคัดกรองสุขภาพเด็กนักเรียนซ้ำอีกในวันที่ 13 มกราคม 2557 
ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวลโรคนี้ เนื่องจากโรคมือเท้าปากนี้ไม่ใช่โรคใหม่ไม่ได้เกิดสายพันธุ์ใหม่ พบได้ทั่วโลก และพบในไทยได้ตลอดปี ส่วนใหญ่จะพบในช่วงฤดูฝนและหนาว เนื่องจากสภาพอากาศเย็น ทำให้เชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดี อย่างไรก็ตามได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ รวมทั้งประสานโรงพยาบาลเอกชน เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยโรคมือเท้าปาก และประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนให้ผู้บริหารโรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก เนิร์สเซอรี่ทุกแห่งที่อยู่ในพื้นที่ ดูแลความสะอาดสถานที่ ของเล่นเด็ก และขอให้ครูพี่เลี้ยงตรวจอาการผิดปกติของเด็กทุกเช้า ก่อนรับเด็กเข้าดูแล หากพบเด็กมีไข้ และมีตุ่มใสขึ้นในปากหรือมีขึ้นตามบริเวณมือ เท้า ขอให้สงสัยไว้ก่อน และให้แยกเด็กไม่ให้คลุกคลีกับเด็กปกติ และให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ หรือโทรปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง นายแพทย์ณรงค์กล่าว  
ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าสถานการณ์โรค มือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 - 22 ธันวาคม 2556 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานมีผู้ป่วย 44,594 ราย เสียชีวิต 3 ราย เกือบครึ่งอยู่ในกลุ่มอายุ 1 - 3 ปี มักเกิดในโรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก เนิร์สเซอรี่                         เชื้อเอ็นเทอโรไวรัส (enterovirus) ที่พบบ่อยในไทยคือคอกแซกกี้เอ (coxsackie virus A) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายได้เอง และพบเอนเทอโรไวรัส 71 หรืออีวี 71 (enterovirus 71 :EV 71) ซึ่งทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้บ่อยคือทำให้ก้านสมองอักเสบ ทำให้การทำงานหัวใจผิดปกติ และอาจเสียชีวิตได้รวดเร็วจากอาการหัวใจล้มเหลว            /โรค.....
 
 โรคนี้ติดต่อกันได้ จากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูกน้ำลายเสมหะจากตุ่มแผลพุพองหรืออุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อ  เชื้อไวรัสจะอยู่ในอุจจาระเป็นเวลาหลายสัปดาห์ หลังติดเชื้อ 3-7 วัน จะมีอาการป่วย  คือมีไข้ มีเม็ดพุพองใสๆขึ้นในปาก โดยเฉพาะที่กระพุ้งแก้ม ลิ้นเหงือกหลังจากนั้น 1-2 วันก็จะเริ่มมีแผลในปากทำให้เจ็บ เบื่ออาหารปวดเมื่อยและเจ็บคอ และอาจพบผื่นที่ผิวหนังตามมือ เท้า แต่ไม่มีอาการคันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษาโรคโดยเฉพาะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายได้เองประมาณ 1 สัปดาห์การรักษาจะเน้นตามอาการเช่น ให้ยาลดไข้แก้ปวดแก้เจ็บแผลในปาก ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทานโรคนี้ ในรายที่มีอาการไข้สูง อาเจียน กระตุก ต้องส่งผู้ป่วยพบแพทย์ทันที เพราะเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรค ผู้ปกครองเด็กเล็ก ให้ล้างมือให้สะอาด ด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง ก่อนการเตรียมอาหารให้เด็ก และหลังขับถ่าย ไม่พาเด็กเล็กไปในที่แออัด สำหรับโรงเรียนอนุบาลและศูนย์เด็กเล็ก ให้ดูแลทำความสะอาดห้องเรียน ห้องครัว ภาชนะใส่อาหาร รวมทั้งห้องน้ำ ห้องส้วม อาคารสถานที่ เครื่องเล่น หรืออุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคหรือน้ำยาซักฟอกเป็นประจำ กำจัดอุจจาระให้ถูกต้องและยึดหลักการปฏิบัติตัว กินร้อน ใช้ช้อนกลางและล้างมือบ่อยๆ หากพบผู้ป่วยในห้องเรียนเดียวกันมากกว่า 2 คน อาจพิจารณาปิดห้องเรียนหรือปิดโรงเรียนหรือสถานศึกษาชั่วคราว เป็นเวลา 5 วัน เพื่อทำความสะอาดลดโอกาสการแพร่กระจายของโรค   
      โดยเฉพาะครูและพี่เลี้ยงเด็กให้เฝ้าระวังโรค โดยตรวจเด็กก่อนเข้าห้องเรียน หากพบเด็กมีอาการป่วยซึ่งสงสัยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที และแยกเด็กอื่นไม่ให้คลุกคลีใกล้ชิดกับเด็กป่วย และให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ทันที โดยขณะนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดโครงการศูนย์เด็กเล็กปลอดโรคที่พบบ่อยในเด็ก ทั้งโรคอุจจาระร่วง โรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งโรคมือเท้าปากด้วย ในโครงการจะมีการจัดอบรมให้ความรู้ความรู้เรื่องโรค แก่ผู้บริหารโรงเรียน ครูพี่เลี้ยง และมาตรการสังเกตอาการป่วยในเบื้องต้น การดูแลความสะอาดสถานที่ต่างๆ ครอบคลุมศูนย์เด็กเล็กประมาณ 20,000 แห่ง
        ************************************     9 มกราคม   2557


   
   


View 16    09/01/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ