วันนี้ (13 มกราคม 2557) เวลา 10.10 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดแพรคลุมป้ายโรงพยาบาลกรงปินัง อ.กรงปินัง จ.ยะลา โดยมีนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เฝ้ารับเสด็จฯ
นายสรวงศ์ เทียนทอง กราบทูลถวายรายงานความเป็นมาของการก่อสร้างโรงพยาบาลกรงปินังว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อก่อสร้างโรงพยาบาลกรงปินัง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง ประจำอำเภอกรงปินัง เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2551 ใช้วงเงินก่อสร้าง 73 ล้าน 3 แสนบาท เนื่องจากที่ผ่านมาพื้นที่แห่งนี้ยังไม่มีโรงพยาบาลประจำอำเภอ ประชาชนต้องเดินทางไปใช้บริการที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 24 กิโลเมตร โดยก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อพ.ศ.2553 และเปิดให้บริการประชาชนในเขตอำเภอกรงปินังซึ่งมีจำนวน 28,052 คน และอำเภอใกล้เคียง รวมทั้งส่งเสริมด้านจิตวิทยาสังคมให้แก่ประชาชนในพื้นที่พิเศษ โดยใช้การบริหารจัดการรูปแบบใหม่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดบริการโรงพยาบาล ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่และทิศทางของการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันมีบุคลากรทั้งหมด 119 คน ประชาชนเข้ารับการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 99 ราย และมีผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลเฉลี่ยวันละ 5 ราย ส่วนใหญ่เจ็บป่วยจากโรคทางเดินหายใจ ความดันโลหิตสูง และทางเดินอาหาร
จากนั้นเวลา 13.30 น.เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดป้ายอาคาร “ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลยะลา” ใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 108,999,999 บาท แล้วเสร็จเมื่อพ.ศ. 2554 อาคารดังกล่าวใช้เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ ในโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการผลิตแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ในโรงพยาบาลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ รับจากชนบท เรียนที่ชนบท และกลับสู่ชนบท เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา โดยรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เข้าเรียน เริ่มรับรุ่นแรกในปีการศึกษา 2548 ชั้นปีละ 30 คน เรียนเป็นเวลา 6 ปี 
ชั้นปี 1-3 จัดการเรียนการสอนที่คณะแพทยศาสตรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่วนชั้นปีที่ 4-6 จัดการเรียนการสอนที่ศูนย์แพทยศาสตรชั้นคลินิก โรงพยาบาลศูนย์ยะลา และสถาบันสมทบ ได้แก่ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลปัตตานี ปัจจุบันศูนย์แพทยศาสตรศึกษาฯ รับนักศึกษารวม 9 รุ่น จำนวน 221 คน สำเร็จการศึกษาและปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 3 รุ่น จำนวน 73 คน ในปี 2557 นี้ มีเป้าหมายรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าเรียนแพทย์จำนวน 20 คน  
หลังจากนั้นเวลา 14.35 น.เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดป้ายศูนย์ศึกษาการแพทย์ฉุกเฉิน วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา สังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข เป็นอาคาร 3 ชั้น ใช้เป็นศูนย์ผลิตและพัฒนาบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉินให้แก่ประชาชน อาสาสมัคร กำลังพล และบุคลากรการแพทย์ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อช่วยชีวิตประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินให้รอดและปลอดภัย อบรมรุ่นละ 30-50 คน โดยมีห้องปฏิบัติการวิทยุสื่อสาร ห้องปฏิบัติการกู้ชีพขั้นสูง และขั้นพื้นฐาน ห้องปฏิบัติการกู้ชีพมารดาและทารก ห้องปฏิบัติการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บเริ่มดำเนินการฝึกอบรมตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้มีผู้ผ่านการอบรม 56 รุ่น จำนวน 1,680 คน
****************13 มกราคม 2557


   
   


View 9    13/01/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ