“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ประเมินสถานการณ์ชุมนุมในพื้นที่รับผิดชอบรอบ 24 ชั่วโมง มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 2 ราย ไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ คงจุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่จุดชุมนุมทั้ง 6 จุด และทีมแพทย์ฉุกเฉินระดับสูง 15 ทีมดูแลในโซนรับผิดชอบและที่กระทรวงแรงงาน ต่างประเทศ อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และกระทรวงพาณิชย์ จ.นนทบุรี และเตรียมทีมจาก 5 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ลพบุรี สิงห์บุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สับเปลี่ยนกำลัง
วันนี้ (14 มกราคม 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีชุมนุมทางการเมือง (ส่วนหน้า) โรงพยาบาลสงฆ์ ประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานศูนย์ปฏิบัติการฯ ส่วนกลาง และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามสถานการณ์ สรุปผลการดำเนินงานในวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา และการเตรียมการรับมือในวันที่ 14 มกราคม 2557
นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในรอบ 24 ชั่วโมง ทั้งในพื้นที่กทม. และในภูมิภาคโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง 3 จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา บุรีรัมย์ และพิษณุโลก ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงถึงแก่ชีวิต แผนการที่ได้จัดเตรียมไว้รับมือได้ โดยมีผู้บาดเจ็บที่เกิดขึ้นในโซนที่กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบในกทม.คือที่ 5 แยกลาดพร้าว และที่แยกปทุมวัน รวม 2 ราย นำส่งรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ และที่โรงพยาบาลเปาโล รักษาแล้วให้กลับบ้าน ได้นำส่งผู้ร่วมชุมนุมไปโรงพยาบาล 1 ราย อายุ 87 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวาน เกิดภาวะแทรกซ้อน แผนการดูแลในวันนี้จึงคงใช้แผนดูแลต่อเนื่องเช่นเดิม ตามแผนเอราวัณ 2 โดยในพื้นที่กทม. ที่จุดชุมนุม 6 จุดที่อยู่ในความดูแล ได้จัดทีมปฐมพยาบาลจากมูลนิธิร่วมกตัญญู และป่อเต็กตึ้งดูแลทั่วๆ ไป และมีทีมแพทย์ฉุกเฉินระดับสูงดูแลส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินรวม 13 ทีม ประกอบด้วยทีมจากส่วนภูมิภาค 9 ทีม ทีมกรมการแพทย์ 2 ทีม รพ.รามาธิบดีและรพ.พระมงกุฎเกล้า แห่งละ 1 ทีม และได้เตรียมทีมจาก 5 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ลพบุรี สิงห์บุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี มาสับเปลี่ยนกำลังจากทีมเดิมที่จะหมดภารกิจในพรุ่งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานในพื้นที่กทม.มีความต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ได้เตรียมแผนดูแลผู้ชุมนุม ซึ่งเดินทางไปตามกระทรวงต่างๆ ในพื้นที่กทม. และนนทบุรี ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงแรงงาน มีกทม.เป็นผู้รับผิดชอบดูแล ได้ให้กรมการแพทย์ประสานการทำงานกับกทม.อย่างใกล้ชิด ส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ จ.นนทบุรี ได้จัดทีมแพทย์ฉุกเฉินระดับสูงจากรพ.พระนั่งเกล้า และปทุมธานี ดูแล
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลง อาจมีผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมป่วยเป็นไข้หวัดหรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจได้ง่าย จึงขอให้ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมดูแลสุขภาพตนเอง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าชุมนุมหักโหม ดื่มน้ำให้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และให้กินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ ซึ่งจะช่วยกำจัดเชื้อโรคออกไปจากมือได้มาก และหากป่วยเป็นไข้หวัด ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค
ด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานศูนย์ปฏิบัติการฯ ส่วนกลาง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาระบบตรวจสอบข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ใช้ติดตามข้อมูลความพร้อมของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปที่อยู่ในภูมิภาคทุกแห่ง ทั้งจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วย ห้องผ่าตัดที่ว่าง แพทย์เฉพาะทาง ออกซิเจน กรุ๊ปเลือด และจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำห้องฉุกเฉิน เป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก สามารถวางแผนการส่งผู้ป่วยไปรับการดูแลต่อได้ล่วงหน้า โดยมอบให้สำนักสาธารณสุขฉุกเฉินรับผิดชอบ
ด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองรวมทั้งข่าวสารต่างๆของการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อาจก่อผลกระทบภาวะความตึงเครียดของประชาชนได้ โดยเฉพาะประชาชน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งผลให้การดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากปกติทำให้เกิดความเครียด จึงขอแนะนำให้บริหารเวลาเพื่อให้จัดการการดำเนินชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น และกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่เฝ้าติดตามข่าวสาร โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ที่รับทราบข่าว อาจเกิดความกังวลใจในสถานการณ์ว่าจะเกิดความรุนแรง ขอแนะนำให้ใช้เวลาในการทำสิ่งอื่นๆ โดยเฉพาะการพูดคุย ขอแนะนำว่าให้คุยกับคนที่คุยกันถูกคอหรือคนคอเดียวกัน เพื่อระบายความรู้สึก หรือความอึดอัดไม่สบายใจให้ลดลง แต่จะต้องระมัดระวังในการสร้างอารมณ์ที่ทำให้รู้สึกหงุดหงิด กดดันกับคนที่มีความเห็นแตกต่างมากขึ้น เพราะจะยิ่งทำให้อึดอัดใจมากขึ้น และควรหาวิธีในการผ่อนคลายตนเองอื่นๆ เช่นทำงานอดิเรก ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที จะช่วยสลัดความเครียดออกไปได้และนอนหลับดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ มีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง จะต้องดูแลภาวะอารมณ์มากขึ้นเพราะจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้วย และให้กินยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยควบคุมอาการไม่ให้ผิดปกติ
************************************* 14 มกราคม 2557