กระทรวงสาธารณสุข ยังคงจัดทีมแพทย์ฉุกเฉิน และทีมปฐมพยาบาล ดูแลให้บริการประชาชนในพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองในกทม.พร้อมสำรองรถสื่อสารเฉพาะกิจด้านการแพทย์เคลื่อนที่ ใช้ในภาคสนามได้ทันทีหากระบบสื่อสารปกติล่ม  
วันนี้ (16 มกราคม 2557) ที่ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีการชุมนุมทางการเมือง  ที่โรงพยาบาลสงฆ์ กทม. นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุพรรณ  ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์  และคณะ ประชุมประเมินผลการปฏิบัติงานการแพทย์และสาธารณสุขในการดูแลผู้ชุมนุมทางการเมืองในรอบ 24 ชั่วโมง   
นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า  ผลการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ฉุกเฉินของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ กทม.ร่วมกับศูนย์เอราวัณ กทม. โรงเรียนแพทย์ สภากาชาด โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม และตำรวจ มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิกู้ชีพร่มไทร และมูลนิธิราชพฤกษ์หนองจอก เป็นที่น่าพอใจในการช่วยเหลือผู้ป่วยในช่วงที่ผ่านมา
แผนปฏิบัติการในวันนี้ (16 มกราคม 2557) ได้คงทีมแพทย์ฉุกเฉินทั้งระดับสูงและหน่วยปฐมพยาบาล จากโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์  รามาธิบดี มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิกู้ชีพร่มไทร และมูลนิธิราชพฤกษ์หนองจอก และทีมจากโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี โรงพยาบาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ โรงพยาบาลสุรินทร์ รวมประมาณ 30 ทีม ดูแลพื้นที่ตั้งแต่ 5 แยกลาดพร้าว จนถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และที่กระทรวงสาธารณสุข  จ.นนทบุรี ตลอด 24  ชั่วโมง  นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขได้สำรองระบบการสื่อสารกรณีที่ระบบการสื่อสารปกติไม่สามารถใช้การได้   โดยเตรียมพร้อมรถสื่อสารเฉพาะกิจด้านการแพทย์  (Emergency Medical Communication Mobile Unit ) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1 คัน  ซึ่งรถดังกล่าวสามารถใช้การได้กับไฟฟ้าทุกระบบ สื่อสารติดต่อได้ทุกหน่วยงานในรัศมี 50 กิโลเมตร เพื่อให้ระบบการแพทย์สามารถดำเนินการได้อย่างคล่องตัว        
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อไปว่า นอกจากภารกิจด้านการรักษาพยาบาลแล้ว กระทรวงฯ ยังได้ให้การสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ให้โรงพยาบาลสนามที่เข้ามาดูแลในจุดชุมนุมและติดตามขบวนผู้ชุมนุม ยาที่ใช้บ่อยได้แก่ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาแก้ไอ ยาแก้ไข้หวัด  แอมโมเนีย และในวันนี้องค์การเภสัชกรรมได้มอบหน้ากากอนามัย จำนวน 30,000 ชิ้น และเจลแอลกอฮอล์ล้างมือด้วย เพื่อนำไปแจกให้กับประชาชนเพื่อป้องกันโรค และได้ให้โรงพยาบาล 8 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี และฉะเชิงเทรา สำรองเตียงผู้ป่วย ห้องผ่าตัด เลือด ออกซิเจน ทีมกู้ชีพ รับย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้บาดเจ็บจากการชุมนุม หากเกิดเหตุรุนแรงไม่สามารถส่งต่อโรงพยาบาลในกทม.ได้ ซึ่งทุกแห่งมีความพร้อม มีเตียงสำรองกว่า 300 เตียง
                                                                                                          **************************  16 มกราคม 2557


   
   


View 9    16/01/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ