กระทรวงสาธารณสุข เผยการใช้อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวดูแลสุขภาพกันเอง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและควบคุมโรคได้ผลดี โดยจังหวัดสมุทรสาคร มีแรงงานต่างด้าวกว่า 1 แสนคน สามารถติดตามตรวจสุขภาพได้เกือบ 9 หมื่นคน ไม่พบโรคต้องห้ามทำงานและไม่มีปัญหาเรื่องโรคระบาด ทั้งอุจจาระร่วง วัณโรค และมาลาเรีย
นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ที่บริษัทณรงค์ซีฟู๊ด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อเช้าวันนี้ (21 มิถุนายน 2550) ว่า การอพยพเคลื่อนย้ายของประชากรระหว่างประเทศ เพื่อหารายได้ที่มากขึ้น หรือหนีจากสภาวะที่ลำบากยากจน เป็นเรื่องปกติของทุกประเทศ โดยปัจจุบันมีคนราว 191 ล้านคน หรือร้อยละ 3 ของประชากรโลก ที่อพยพไปยังประเทศที่มีความเจริญกว่าทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ในส่วนของประเทศไทย ประมาณการณ์ว่ามีแรงงานต่างชาติและผู้ติดตามเข้ามาอยู่กว่า 1 ล้านคน ซึ่งปัญหาสำคัญที่มาพร้อมกับแรงงานต่างด้าวคือ การนำโรคต่างๆ เข้ามาแพร่กระจายในประเทศ ทำให้หลายโรคที่เคยควบคุมได้ กลับมาเป็นปัญหาใหม่อีกครั้ง อาทิ วัณโรค มาลาเรีย เอดส์ เป็นต้น
นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพของแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม และเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพกับคนไทยทั้งประเทศ โดยพบว่าแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เมื่อเจ็บป่วยมักไม่กล้าไปรักษา เพราะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารหรือกลัวถูกจับ การดูแลสุขภาพคนกลุ่มนี้จึงต้องทำในเชิงรุก โดยพัฒนาแรงงานต่างด้าวในชุมชนหรือสถานประกอบการ ให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) และพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสาธารณสุข ซึ่งพบว่าช่วยลดช่องว่างและเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกัน ควบคุมโรค และการให้บริการสุขภาพแก่แรงงานต่างชาติได้อย่างมาก
ด้านนายแพทย์ชัยรัตน์ เวชพานิช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานต่างด้าวกว่า 1 แสนคน จากการตรวจสุขภาพรอบแรกในปี 2549 จำนวน 89,384 คน แยกเป็นพม่า 85,995 คน ลาว 2,804 และกัมพูชา 585 คน พบโรคที่ต้องติดตามรักษา ซึ่งมี 6 โรค ได้แก่ วัณโรค เท้าช้าง โรคเรื้อน ซิฟิลิส มาลาเรีย และพยาธิสำไส้ 720 คน และมีการตั้งครรภ์ 1,227 คน โดยไม่พบแรงงานเป็นโรคที่ต้องห้ามมิให้ทำงาน ได้แก่ วัณโรคระยะติดต่อ โรคเรื้อนระยะปรากฏอาการ โรคเท้าช้างระยะปรากฏอาการ โรคซิฟิลิสระยะที่ 4 และติดยาเสพติด และจากการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548-31 ธันวาคม 2549 พบแรงงานต่างด้าวป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันมากที่สุด 274 ราย รองลงมาเป็น ไข้หวัดใหญ่ 178 ราย วัณโรค 129 ราย ตาแดง 113 ราย และมาลาเรีย 111 ราย
ทั้งนี้ ในการจัดระบบดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าว ได้เน้นการมีส่วนร่วมของเจ้าของสถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวในชุมชน โดยจัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เพื่อเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยแยกเป็น อสต.ในสถานประกอบการ 455 คน ในชุมชน 68 คน และแกนนำครอบครัว ดูแลสุขภาพคนในครอบครัวและเพื่อนบ้านรอบๆ อีก 40 คน สำหรับโรงงานณรงค์ซีฟู๊ด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารและส่งออก มี อสต.ทั้งหมด 30 คน
***************21 มิถุนายน 2550
View 9
21/06/2550
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ