กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมสอบสวนโรคจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร สำนักงานควบคุมป้องกันโรค ร่วมกับทีมปศุสัตว์ ลงพื้นที่ตำบลวังแขม อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้แมวตายกว่า 30ตัว และทำการควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจาย เผยผลการตรวจซากแมว ไม่พบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ด้านสัตวแพทย์คาดสาเหตุแมวตายน่าจะมาจากติดเชื้อไวรัสหัดแมว เชื้อนี้ไม่ติดคนและไม่ติดสุนัข มีวัคซีนฉีดป้องกัน แนะให้บ้านที่มีแมวตาย ล้างทำความสะอาดพื้นบ้าน ชามอาหาร ที่รองนอน ที่รองขับถ่าย และเฝ้าระวังการป่วยในคนเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์ หากมีอาการป่วย เป็นไข้ ไอ จะส่งพบแพทย์ตรวจรักษา
จากกรณีพบแมวในหมู่บ้านที่ 1 และหมู่ที่ 3 ตำบลวังแขม อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร    ตายกว่า 30 ตัว ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาโดยไม่ทราบสาเหตุ ก่อนตายมีอาการซึม ไม่กินอาหาร จากนั้นอาเจียนและชัก ประชาชนวิตกว่าอาจเป็นโรคประหลาด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเคยพบเชื้อไข้หวัดนกมาก่อน   โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ส่งซากแมวตรวจชันสูตรหาเชื้อที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนล่างจ.พิษณุโลกแล้ว
ความคืบหน้าในเรื่องนี้วันนี้ ( 7 กุมภาพันธ์ 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8จังหวัดนครสวรรค์ ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อดำเนินการสอบสวน ควบคุมป้องกันโรคที่หมู่บ้านที่พบแมวตาย ผลการตรวจซากแมวตายเบื้องต้นจากห้องปฏิบัติการ ตรวจไม่พบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า แสดงว่าแมวไม่ได้ตายจากโรคพิษสุนัขบ้า
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ในเบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้คำแนะนำประชาชนเพื่อคลี่คลายความวิตกกังวล โดยในบ้านที่มีแมวตาย ขอให้ล้างทำความสะอาดพื้นบ้านด้วยผงซักฟอก หรือผงฟอกขาว ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ขณะทำความสะอาดให้สวมถุงมือยางหรือสวมถุงพลาสติก และสวมหน้ากากป้องกันโรค อุปกรณ์ต่างๆ หลังใช้แล้วให้ฝังหรือเผาทำลายทิ้ง และหากยังมีแมวตาย ขอให้กำจัดซากแมว โดยให้สวมถุงมือยางหรือสวมถุงพลาสติกหลายชั้น และสวมหน้ากากป้องกันโรค เพื่อป้องกันการสัมผัสเชื้อโรคจากซากแมว
การกำจัดสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ขุดหลุมฝังลึก 75 – 100 เซนติเมตร โดยฝังพร้อมกับหน้ากากป้องกันโรคและถุงมือที่สวมขณะจับซากสัตว์ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย หรือใช้วิธีเผาทำลาย เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. เฝ้าระวังอาการป่วยในคน โดยเฉพาะในบ้านที่มีแมวตาย ให้สังเกตอาการป่วยทุกวันเป็นเวลา 3 – 4 สัปดาห์ เชื้อนี้ติดต่อกันทางสัมผัส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื้อติดอยู่กับอุจจาระอาจติดตามรองเท้า เสื้อผ้า มือ ไปสู่แมวตัวอื่น ตามมาตรการของกระทรวงฯ หากพบว่ามีไข้ ไอ หอบ จะส่งพบแพทย์ตรวจรักษา ขณะนี้ยังไม่พบมีประชาชนป่วยแต่อย่างใด
ทางด้านสัตวแพทย์หญิงอภิรมย์ พวงหัตถ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ลักษณะอาการของแมวสงสัยว่าน่าจะติดเชื้อในกลุ่มพาร์โวไวรัส (Parvo Virus) ซึ่งทำให้เกิดโรคไข้หัดแมว อาการของโรคนี้ คือ ท้องเสีย อาเจียน หลังจากได้รับเชื้อแล้วจะมีอาการใน 2 -7 วัน โดยลูกแมวจะมีอาการหนักกว่าแมวโต และพบว่าอัตราการเสียชีวิตของโรคนี้ประมาณ 29-90 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของแมวด้วย สำหรับลูกแมวที่มีอาการรุนแรงอาจตายภายใน 7 วัน บางตัวมีอาการตาบอดร่วมด้วย ถ้าอาการหนักมากอาจเป็นอัมพาตได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนสบายใจได้ เพราะโรคนี้ไม่สามารถติดต่อสู่คนและสุนัขได้   ในแมวมีวัคซีนป้องกัน
 
ประชาชนควรพาไปฉีดวัคซีนตั้งแต่ลูกแมวอายุ 2 เดือน เข็มที่ 2 ฉีดเมื่ออายุ 2 เดือนครึ่ง หลังจากนั้นฉีดทุกปีๆ ละ 1 ครั้ง เชื้อกลุ่มพาร์โวไวรัสนี้ไม่ทนความร้อน หากโดนความร้อนประมาณ50 -60 องศา เชื้อก็ตาย และไม่ชอบพื้นที่แห้ง สำหรับการฆ่าเชื้อควรใช้สารฟอกขาวผสมน้ำ (เป็นผงหรือน้ำ)ราดบริเวณดังกล่าว ก็สามารถฆ่าเชื้อได้เป็นอย่างดี
ส่วนการติดต่อของเชื้อไข้หัดแมว ติดต่อได้โดยการสัมผัสระหว่างแมวกับแมว เชื้อไม่ได้มาทางอากาศ เหมือนโรคไข้หวัด นอกจากนี้ อุจจาระ น้ำมูก น้ำลายก็มีเชื้อที่สามารถติดต่อกันได้ โดยส่วนมากจะพบมากในอุจจาระ รวมถึงที่รองนอนและกระบะทรายที่ไว้สำหรับฉี่ก็อาจจะแพร่เชื้อได้ หากเลี้ยงแมวจำนวนมากแล้วพบว่ามีแมวป่วย  ให้คัดแยกออกจากแมวที่ไม่ป่วยทันที การรักษาแมวป่วยนั้นเชื้อตัวนี้ไม่มียาฆ่าเชื้อโดยตรง ควรพาไปพบสัตวแพทย์ดีที่สุด ซึ่งสัตวแพทย์จะใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคองตามอาการนั้นๆ และหลังจากที่จับแมวป่วยแล้ว ให้ทำล้างมือให้ด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้ง เช่นเดียวกับการล้างมือก่อนจับต้องแมวปกติ ป้องกันไม่ให้เอาเชื้อโรคไปติด เนื่องจากแมวที่ติดเชื้อ หากป่วยแล้วสามารถแพร่เชื้อมากับอุจจาระได้หลายสัปดาห์ โรคนี้ไม่ติดต่อถึงคน และสุนัข แต่ติดต่อในสัตว์ตระกูลแมว เช่น เสือ สิงโต แมวป่า แมวบ้าน ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเช่นเดียวกับแมว หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 02-590-3177-8 หรือ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422 สัตวแพทย์หญิงอภิรมย์ กล่าวเพิ่มเติม
            
                          *************************************    7 กุมภาพันธ์ 2557
 
 
 
 


   
   


View 9    08/02/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ