ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งจังหวัดชายแดนไทย –กัมพูชา เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิด หลังพบเด็กกัมพูชาติดเชื้อรายที่ 3 ในปีนี้  ขณะเดียวกันย้ำเตือนประชาชนที่มีโรคประจำตัวเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง  โรคหัวใจ เสี่ยงป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ช่วงอากาศเปลี่ยน   โดยหากป่วยคือมีไข้สูง  ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตัว ไอเจ็บคอมีน้ำมูก  ขอให้รีบพบแพทย์รักษาภายใน 48 ชั่วโมง   อย่าซื้อยารักษาตัวเอง ขณะเดียวกันวางแผนฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในปีนี้ให้กลุ่มเสี่ยงให้เร็วขึ้น เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 จำนวน 3.4 ล้านโดส 
จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขของประเทศกัมพูชา  ยืนยันการพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 ( H5N1) เป็นรายที่ 3 ของปี2557นี้ โดยเป็นเด็กชายวัย 4 ขวบ ซึ่งเข้ารักษารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่สัปดาห์ก่อนหลังจากที่ผู้ปกครองพบว่ามีไข้สูง ล่าสุดเด็กชายคนดังกล่าวมีอาการดีขึ้นแต่ยังต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดนั้น
          ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย ซึ่งไทยไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อติดต่อกันมาเป็นเวลา 7 ปี และไม่พบติดเชื้อในสัตว์ปีกเป็นเวลา 6 ปี แต่ยังไว้วางใจไม่ได้ เนื่องจากมีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนกทั้งสายพันธุ์ เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) สายพันธุ์เอช 5 เอ็น 1 ในประเทศใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง จึงมอบหมายให้กรมควบคุมโรคประชุมความร่วมมือการเฝ้าระวังโรคนี้อย่างเข้มข้นใน 3 กลุ่มคือ ในคน ในสัตว์ปีกเลี้ยง และสัตว์ปีกป่า โดยร่วมมือกัน 4 หน่วยงานคือกรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ขณะเดียวกันได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตามแนวทางที่กำหนด รวมทั้งให้โรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั้งในและนอกสังกัด ให้เฝ้าระวังผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค และจะประชุมติดตามสถานการณ์ทุกสัปดาห์
          นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า  ในช่วงนี้เป็นช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย  จึงทำให้ประชาชนป่วยเป็นไข้หวัดได้มากขึ้น  โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหากป่วยแล้วอาจมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่นเช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคปอด หอบหืด โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่คือมีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ไอเจ็บคอ มีน้ำมูก ขอให้พบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมงหลังมีไข้ อย่าซื้อยากินเอง โดยได้กำชับให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ หากพบผู้ป่วยและเป็นกลุ่มเสี่ยง ขอให้ดูแลรักษาตามแนวทางการรักษา โดยให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทันที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเตรียมยาไว้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง ยาใช้ได้ผลดี เชื้อไม่มีปัญหาดื้อยา และองค์การเภสัชกรรมได้สำรองวัตถุดิบพร้อมผลิตยาดังกล่าวไว้อย่างเพียงพอ  ทางด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในแต่ละปีประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ประมาณ 50,000ราย ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยและจะมีอาการรุนแรง เสี่ยงอันตรายชีวิตสูง เช่นผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมทั้งฉีดให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีประมาณ 250,000 คน และเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ทำลายสัตว์ปีกด้วย รวมทั้งหมด 3ล้าน 4แสนโดส จะฉีดให้เร็วขึ้น ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่คือฤดูฝนเพื่อประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงโรค โดยจัดซื้อร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คาดว่าจะได้รับวัคซีนประมาณเดือนเมษายน 2557 และจะเริ่มฉีดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป     จากการประเมินผลหลังที่ประเทศไทยมีนโยบายฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันการเสียชีวิตกลุ่มเสี่ยง ที่เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา พบว่ามีความคุ้มค่าต่อการลงทุน เด็กอายุ ต่ำกว่า 2 ขวบที่ฉีดวัคซีน มีอัตราเสียชีวิตต่ำกว่าเด็กที่ไม้ได้ฉีดถึงร้อยละ 60  
 สำหรับการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่    ขอให้ประชาชนหมั่นออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องทุกวัน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 วัน ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที สร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย   กินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือบ่อยๆ เพื่อกำจัดเชื้อโรคสิ่งสกปรกต่างๆที่ติดมากับมือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด ขอให้พักผ่อนให้มากๆ อาการจะค่อยๆดีขึ้นเองและคาดหน้ากากอนามัย รวมถึงพักทำงาน พักโรงเรียนเพื่อป้องกันเชื้อแพร่ไปติดคนอื่น หากไข้ไม่ลดลงภายใน 2 วันขอให้พบแพทย์ เนื่องจากอาจมีอาการแทรกซ้อนได้  โดยสามารถปรึกษา หรือขอคำแนะนำที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง


   
   


View 10    20/02/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ