กระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้แม่ค้าหันมาใช้สารต้องห้าม คือ “น้ำยาดองศพ”ใส่ในเห็ดฟาง-นางฟ้า-เห็ดหอมสด –ผัก-ขิงซอย-กระชาย ตรวจพบที่ตลาดสด ตลาดนัด รวม 5 แห่ง ในนครสวรรค์ เฉลี่ยพบสูงเกือบร้อยละ 25 บางแห่งตรวจพบเกือบร้อยละ 60 ชี้ภัยน้ำยานี้อันตรายทั้งพ่อค้าแม่ค้า ประชาชน ถึงขั้นเสียชีวิต ยังเป็นสารก่อมะเร็ง กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ออกตรวจต่อเนื่อง หากพบให้ลงโทษเด็ดขาด และให้สาวถึงแหล่งผลิตต้นตอ เพื่อกวาดล้างภัยให้หมดไปจากแหล่งอาหารบริโภค ประชาชนมั่นใจ
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปี 2557นี้ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายควบคุมความปลอดภัยอาหารบริโภค ซึ่งอาหารเป็นปัจจัยสี่จำเป็นของการสร้างสุขภาพดีและทำลายสุขภาพประชาชนไปพร้อมๆ กันหากมีสารอันตรายหรือมีเชื้อโรคปนเปื้อน เนื่องจากขณะนี้พบว่าประชาชนป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากเป็นอันดับ 1 ซึ่งสาเหตุของโรคดังกล่าวเกิดมาจากการบริโภคอาหารด้วยการเสียชีวิตยังไม่มีวี่แววจะลดลง และโรคนี้ใช้เวลาก่อตัวนานหลายปี กว่าจะปรากฏอาการ ผู้ที่เป็นมักไม่ค่อยรู้ตัว โดยกระทรวงฯจะดูแลทั้งอาหารนำเข้า อาหารที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศ ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ สุ่มตรวจเฝ้าระวังอาหารอย่างต่อเนื่อง เน้นสารอันตรายที่เป็นปัญหา มักมีการลักลอบใส่ในอาหารสด 6 ชนิด ได้แก่ สารบอแรกซ์ สารฟอกขาว สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง สารกันรา สารฟอร์มาลิน(Formalin) และสารเร่งเนื้อแดง และให้ควบคุมมาตรฐานความสะอาดแหล่งจำหน่ายอาหารทั้งตลาดสด ตลาดนัด ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารแผงลอย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นประชาชน
นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า ได้รับรายงานผลการสุ่มตรวจประเมินอาหารปลอดภัยของกรมอนามัยในช่วงปลายเดือนมกราคม 2557 ในตลาดที่จังหวัดนครสวรรค์ 5 แห่ง ที่อำเภอเมือง อำเภอท่าตะโก อำเภอชุมแสง ประกอบด้วยตลาดสด 2 แห่ง และตลาดนัด 3 แห่ง โดยเก็บอาหารตรวจทั้งหมด 275 ตัวอย่าง ผลการตรวจไม่พบมีการปนเปื้อนสารบอแรกซ์ และสารฟอกขาว แต่ที่น่าตกใจก็คือพบการใช้สารฟอร์มาลินหรือน้ำยาฉีดศพ น้ำยาดองศพ มาใช้กับอาหารสด เพื่อไม่ให้เน่าเสียง่าย โดย 5 ตลาด ตรวจพบ 102 ตัวอย่าง เฉลี่ยร้อยละ 25 บางแห่งเช่นในตลาดสดขนาดใหญ่ในเมือง พบร้อยละ 59 อาหารที่ตรวจพบได้แก่ กุ้ง ปลาหมึก ปลาหมึกกรอบ ขิงหั่นฝอย กระชายหั่นฝอย เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหอมสด ถั่วฝักยาว สไบนาง จึงถือว่าเป็นเรื่องที่มีอันตรายมาก เป็นการใช้สารฟอร์มาลินผิดวัตถุประสงค์ และห้ามใช้ในอาหารอย่างเด็ดขาดเนื่องจากสารชนิดนี้มีอันตรายสูง เป็นสารก่อมะเร็ง สารชนิดนี้เป็นอันตรายทั้งคนใช้ แม่ค้า และผู้บริโภค จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขดำเนินการเรื่องนี้อย่างเข้มงวดจริงจัง และให้สาวถึงแหล่งต้นตอให้ได้ เพื่อลงโทษให้เด็ดขาด
ทางด้านดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า อาหารกลุ่มที่ตรวจพบใส่ฟอร์มาลินที่กล่าวมานี้ ที่ผ่านมามักจะตรวจพบสารฟอกขาว การพบสารฟอร์มาลินสูงขึ้นอาจเป็นเพราะพ่อค้า-แม่ค้าอาจจะเปลี่ยนจากการใช้สารฟอกขาวใส่อาหารเพื่อให้คงสภาพสด ไม่หมองคล้ำ หรือไม่เน่าเสีย มาเป็นการใช้สารฟอร์มาลินแทน สารฟอร์มาลินมีอันตรายต่อผู้บริโภค จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร หากทานเข้าไปจะก่อให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะไม่ออก กดประสาทส่วนกลางทำให้หมดสติได้ กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศ ฉบับ 93 พ.ศ. 2528 ห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใดละเมิดใส่ในอาหารต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับฐานผลิตอาหารที่ไม่บริสุทธิ์
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า ต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการตลาดสด ตลาดนัด ให้เข้มงวดความปลอดภัยอาหารที่จำหน่ายในตลาด เพื่อร่วมกันคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ควรจะมีการสอบย้อนไปจนถึงแหล่งค้าส่งและแหล่งปลูกว่า จะมีการนำสารฟอร์มาลินมาใส่ในขั้นตอนไหน โดยต้องทำงานแบบประสานกันทุกหน่วย ทั้งหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานด้านการเกษตร เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน สิ่งสำคัญคือ การสื่อสารความรู้ อันตราย และสถานการณ์การปนเปื้อนให้แก่ผู้ค้าขาย รวมถึงประชาชนผู้บริโภค เพื่อสร้างความตระหนัก ความรับผิดชอบ และความร่วมมือในการเฝ้าระวังสารปนเปื้อน.
สำหรับสารฟอร์มาลินหรือฟอร์มัลดีไฮด์ มีลักษณะเป็นน้ำใส กลิ่นฉุน ระเหยง่าย หากได้รับในปริมาณที่สูงหรือมีความเข้มข้นมาก สารชนิดนี้ จะเปลี่ยนเป็นกรด มีฤทธิ์ทำลายเซลล์ในร่างกาย ทำให้เซลล์ตายได้ โดยฟอร์มัลดีไฮด์ มีพิษต่อระบบต่างๆเกือบทั่วทั้งร่างกาย คือต่อระบบทางเดินหายใจ หากได้รับรูปของไอระเหย แม้จะปริมาณต่ำๆ ถ้าถูกตาจะระคายเคืองตามาก ทำให้เป็นแผล ถ้าสูดดมเข้าไปจะทำให้หลอดลมบวม แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นแม่ค้าพ่อค้าที่จำหน่ายอาหารที่แช่ฟอร์มาลิน ก็จะมีสิทธ์สูดดมไอระเหยของฟอร์มาลินออกจากน้ำที่แช่ได้ตลอดเวลา และสูดเข้าโดยตรงด้วย เป็นอันตรายต่อตัวเอง
หากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มัลดีไฮด์ในปริมาณมาก จะทำให้ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้องอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผล และยังพบว่าสารชนิดนี้เป็นสารก่อมะเร็งด้วย นอกจากนี้ยังมีผลต่อผิวหนัง เมื่อสัมผัสจะเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน เป็นผื่นแดงเหมือนลมพิษ จนถึงผิวหนังไหม้เป็นสีขาวได้หากสัมผัสโดยตรง
ดร.นายแพทย์พรเทพกล่าวต่ออีกว่า วิธีสังเกตว่าผักที่ซื้อมามีฟอร์มาลินหรือไม่นั้น ควรดมที่ใบหรือหักก้านดม ถ้ามีกลิ่นฉุนแสบจมูกก็ไม่ควรซื้อ หรือสังเกตดูผักที่วางขายว่าสด ใบงาม เกินความเป็นจริง ไม่มีรูพรุนจากการกัดของแมลงเลย ตั้งขายไว้เป็นวันๆ ยังไม่เหี่ยว ก็ไม่ควรเลือกซื้อ เพราะอาจมีฟอร์มาลินและสารพิษฆ่าแมลงซึ่งยังไม่หมดฤทธิ์ สะสมอยู่ด้วย ในกรณีที่ซื้อมาแล้วยังไม่แน่ในว่าอาจมีฟอร์มาลินติดมาอีก ก็ควรนำผักมาล้างน้ำไหล 5-10 นาที หรือแช่น้ำนิ่งราว 1 ชั่วโมง ซึ่งมีรายงานว่า ฟอร์มาลินส่วนมากจะถูกชะล้างออกไปหมด ส่วนการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อวัว ตลอดจนปลา ต้องสังเกตว่าลักษณะเนื้อนั้นสดผิดปกติหรือไม่ เพราะถ้าเป็นเนื้อที่ไม่แช่ฟอร์มาลินวางขายในตลาดสด ถ้าถูกแดดถูกลมนานๆ เนื้อแดงๆ นั้นจะเหี่ยว หรือถ้ามีกลิ่นฉุนๆ แปลกๆ แสบจมูก ก็ไม่ควรจะซื้อมาบริโภค และในการบริโภคทุกครั้ง ต้องทำอาหารทุกชนิดให้สุกด้วยความร้อน เนื่องจากความร้อน จะทำลายฟอร์มาลินได้ อธิบดีกรมอนามัยกล่าว
****************************** 23 กุมภาพันธ์ 2557