กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนไทยในช่วง 3 ปีมานี้  พบมีมากถึงร้อยละ 20 หรือประมาณ 13 ล้านคน  และป่วยทางจิตแล้วกว่า 3 ล้านคน  ชี้มีแนวโน้มพบเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสภาพสังคมเมือง ซึ่งมีความเปราะบาง  ประชาชนใช้ชีวิตต่างคนต่างอยู่    เร่งจัดบริการดูแลรักษาและป้องกัน  โดยในปีนี้ทุ่มงบประมาณ 360 ล้านบาท สร้างโรงพยาบาลจิตเวช 1 แห่งประจำเขตบริการสุขภาพที่ 2  ที่จังหวัดพิษณุโลก  เป็นศูนย์กลางดูแลผู้ที่มีปัญหาใน 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่  พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ และตาก    คาดจะเปิดบริการในปี 2560  ขณะเดียวกันการะจายบริการรักษาลงในระดับอำเภอ หมู่บ้าน พบว่าได้ผลดี ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาดีขึ้น

                   

          วันนี้ (6 มีนาคม 2557) ที่โรงพยาบาลสุโขทัย จ.สุโขทัย  นายแพทย์ณรงค์  สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์วชิระ  เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเขตบริการสุขภาพที่ 2  ซึ่งประกอบด้วย 5 จังหวัดได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์  และตาก เพื่อติดตามความคืบหน้าของการจัดบริการสาธารณสุขร่วมกันของสถานพยาบาลทุกระดับที่อยู่ในพื้นที่ เชื่อมโยงกันทั้งในระดับเขต และภายในจังหวัดเสมือนเป็นโรงพยาบาลเดียวกัน   เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านกว่าคนร่วมกัน ตั้งแต่เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ทั่วไปจนถึงป่วยขั้นรุนแรง   ตามนโยบายการพัฒนาระบบบริการเพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง

                นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า กรอบการพัฒนาระบบริการในแต่ละเขตบริการสุขภาพ ซึ่งทั่วประเทศมี 12 เขต ดูแลประชาชนเขตละประมาณ 5-7 จังหวัด ในเบื้องต้นนี้กำหนดให้ทุกเขตต้องจัดบริการดูแลรักษาประชาชนตั้งแต่ระดับเชี่ยวชาญลงไปถึงบริการระดับพื้นฐานใน 10 สาขา โดย 9 ใน 10 เป็นโรคทางกายที่ประชาชนทุกพื้นที่เจ็บป่วยกันมาก เช่นโรคหัวใจและหลอดเลือด  โรคมะเร็ง อุบัติเหตุ ทันตกรรม เป็นต้น  และอีก 1 เรื่อง เป็นบริการผู้ป่วยโรค จิตเวช   ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ  สิ่งแวดล้อม สารเสพติด   กรมสุขภาพจิตได้สำรวจในช่วง 3 ปีมานี้  พบว่าประชาชนไทยร้อยละ 20  หรือประมาณ 1 ใน 5 หรือประมาณ 13 ล้านคน ประสบปัญหาสุขภาพจิต เช่นเครียด วิตกกังวล   และมีผู้ป่วยโรคทางจิตเวช 10  โรค เช่น โรคจิตเภท  โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า  ขึ้นทะเบียนรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศในปี 2554 รวมกว่า 3 ล้านราย  คาดการณ์ว่า ใน พ.ศ.2570  นี้ ปัญหาสุขภาพจิตจะมีมากขึ้น  เนื่องจากผลพวงของการเปลี่ยนเป็นสภาพสังคมเมืองมากขึ้น พื้นที่ที่เป็นเขตปริมณฑลจะเป็นเขตเมืองอย่างสมบูรณ์  ซึ่งสภาพความเป็นเมือง  ประชาชนใช้ชีวิตต่างคนต่างอยู่     จะทำให้สังคมไทยมีความเปราะบางขึ้น  ความอบอุ่นเช่นสภาพของสังคมแบบชนบท หรือสังคมเกื้อกูลแบบเครือญาติ จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ

                ขณะนี้ผู้ป่วยทางจิตประมาณ 1  ใน 3  หรือประมาณ 1 ล้าน 9 หมื่นกว่าราย  รักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง ทั่วประเทศมีแล้ว 17 แห่ง ครอบคลุม 11 เขต รวม 72 จังหวัดและผู้ป่วยที่เหลือดูแลโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน โดยที่เขตบริการสุขภาพที่ 2   ยังไม่มีโรงพยาบาลจิตเวช    ดังนั้นในปี 2557  นี้   กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดสรรงบประมาณ  360  ล้านบาท   ก่อสร้างโรงพยาบาลจิตเวช

ขนาด 200 เตียง ที่ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก  จะแล้วเสร็จและให้บริการสมบูรณ์แบบในปี 2560 ประชาชนที่ป่วย ไม่ต้องเดินทางไปรักษานอกเขต เช่นที่เชียงใหม่ ขอนแก่น  นครสวรรค์    ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 200-300 กิโลเมตร    

ทางด้าน นายแพทย์วชิระ  เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า ในการพัฒนาบริการสุขภาพจิตของเขตบริการสุขภาพที่ 2 ขณะนี้ได้เปิดหอผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เช่น ที่รพ.อุตรดิตถ์  รพ.แม่สอด จ.ตาก รพ.สุโขทัย รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก และได้ขยายการรักษาลงถึงโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง  โดยจัดทำมาตรฐานแนวทางรักษาโรคจิตเวชที่พบบ่อย 10 โรค เช่น โรคซึมเศร้าซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการฆ่าตัวตาย  โรคจิตเภท โรควิตกกังวล  โรคความจำเสื่อม  และใช้ยารักษาเหมือนกันทุกแห่ง  รวมทั้งจัดระบบการรักษาผู้ป่วยโรคจิตทางไกลมีแพทย์เฉพาะทางให้คำปรึกษาแก่แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลต่อเนื่อง  ส่งผลให้สามารถลดปัญหาการฆ่าตัวตายได้ร้อยละ 12  โดยลดจาก 279  รายในปี 2555 เหลือ 248 รายในปี 2556  อัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยดีขึ้น เช่นผู้ป่วยโรคจิตเภท เข้าถึงบริการได้ร้อยละ 70   โรคซึมเศร้าเข้าถึงร้อยละ 51  เป็นต้น     

นอกจากนี้ ยังจัดนำร่องการพัฒนาการจัดบริการผู้ป่วยจิตเวชใน อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ซึ่งประชาชนร้อยละ 90 ทำอาชีพเกษตรกรรม  โดยโรงพยาบาลกงไกรลาศ  ตรวจคัดกรองหาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เพื่อดูแลรักษาฟื้นฟูเป็นเครือข่าย ร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกตำบล  อาสาสมัครในหมู่บ้าน ครอบครัวผู้ป่วย  ภายหลังที่ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลจิตเวชและกลับไปอยู่ที่บ้าน   เพื่อให้ได้รับการรักษากินยาต่อเนื่อง  ไม่ขาดยาจนอาการกำเริบ  สามารถแก้ไขปัญหาการล่ามโซ่ผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการคลุ้มคลั่งเพราะขาดยา ซึ่งในพื้นที่มีประมาณ 15 ราย ได้สำเร็จ  ขณะนี้ผู้ป่วยจิตเวชทุกรายใช้ชีวิตในสังคมได้  ไม่มีรายใดถูกญาติล่ามโซ่แม้แต่รายเดียว ประชาชนมีความเข้าใจวิธีการดูแลผู้ป่วยดีขึ้น  ซึ่งจะใช้เป็นต้นแบบดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

********************** 6 มีนาคม 2557

 



   
   


View 12    06/03/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ