กระทรวงสาธารณสุข เผยรอบ 10 ปี มีผู้ได้รับอันตรายจากทำงานในที่อับอากาศ 32 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 28 ราย อัตราตายสูงถึงร้อยละ 88 ย้ำเตือนต้องมีผู้คอยช่วยเหลือที่ปากบ่อ ก่อนปฏิบัติงานต้องมีอุปกรณ์ป้องกันและตรวจสอบความปลอดภัยจากก๊าซหรือสารเคมีอันตรายก่อน โดยเฉพาะหากสูดก๊าซไข่เน่าที่เข้มข้น 100 พีพีเอ็ม. จะมีอันตรายถึงชีวิต หากไม่มีเครื่องมือให้สังเกตสีของน้ำจะดำเข้มและใช้ไม้กวนน้ำในบ่อให้กลิ่นโชยขึ้นมา

          จากเหตุการณ์ที่คนงานบริษัทรับจ้างเหมาจากเทศบาลนครภูเก็ตในการดูแลระบบท่อบำบัดน้ำเสีย ลงไปทำงานในบ่อพักน้ำเสียที่จังหวัดภูเก็ต หมดสติและเสียชีวิต จำนวน 4 คน เมื่อวานนี้ (26 มีนาคม 2557) นั้น

          ในวันนี้ (27 มีนาคม 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า อันตรายจากการทำงานในที่อับอากาศ (Confined space) เช่น อุโมงค์ ถ้ำ บ่อ หลุม ห้องใต้ดิน ห้องนิรภัย ถังน้ำมัน ถังหมัก ไซโล ท่อ เตา เกิดขึ้นเป็นระยะๆ และมักเสียชีวิตหมู่ เนื่องจากลงไปช่วยคนที่หมดสติที่ก้นบ่อ โดยขาดความรู้และขาดอุปกรณ์ป้องกันตัว สำนักระบาดวิทยารายงานในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2546 - 2556 มีเหตุการณ์ทั้งหมด 9 ครั้ง ผู้ประสบเหตุ 32 ราย เสียชีวิต 28 ราย คิดเป็นอัตราตายสูงถึงร้อยละ 88 ผู้เสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 50 เป็นผู้ที่ลงไปช่วยเหลือ กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค เร่งให้ความรู้และเผยแพร่มาตรการความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ แก่สถานประกอบการ และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในหน้าแล้ง ประชาชนมักจะขุดบ่อลึกเพื่อหาน้ำใต้ดินและเตรียมรองรับน้ำในฤดูฝน

          ด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุการเสียชีวิตในที่อับอากาศที่พบในประเทศส่วนใหญ่มาจาก 2 สาเหตุ คือ 1.ขาดอากาศหายใจ พบประมาณร้อยละ 60 ซึ่งบริเวณบ่อ หลุมที่มีความลึกหรือท่อมักจะมีออกซิเจนน้อย หากต่ำกว่าร้อยละ 20 จะเป็นอันตราย และ 2.สูดก๊าซพิษที่พบบ่อย 3 ชนิด ได้แก่ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen sulfide) หรือก๊าซไข่เน่า ก๊าซมีเทน และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งก๊าซเหล่านี้มีน้ำหนักมากกว่าก๊าซอื่น จะลอยอยู่ที่ก้นบ่อ โดยเฉพาะก๊าซไข่เน่าที่มีความเข้มข้นสูงถึง 100 พีพีเอ็ม.  เมื่อสูดเข้าไปจะทำให้หยุดหายใจ เสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว หรือหากมีความเข้มข้นสูง 66 พีพีเอ็ม. ขึ้นไปให้ออกจากพื้นที่นั้น  

          ในการป้องกันอันตรายขณะทำงานในที่อับอากาศ ก่อนจะลงไปทำงานต้องใช้เครื่องมือตรวจวัดปริมาณออกซิเจน สารเคมีอันตราย หรือก๊าซพิษก่อน  จัดเตรียมอุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะถังบรรจุออกซิเจนและหน้ากาก ต้องมีผู้ช่วยเหลืออยู่ที่ปากบ่อหรือปากทางอย่างน้อย 1 คน และผู้ควบคุมการทำงาน 1 คน ทั้งหมดจะต้องผ่านการฝึกอบรม ทั้งการกู้ภัยและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นอย่างดี และควรผูกเชือกที่เอวของผู้ปฏิบัติงานไว้ เพื่อให้ผู้ที่อยู่ปากบ่อรู้การเคลื่อนไหวตลอดเวลา หากเห็นว่ามีอาการหรือท่าทางผิดปกติ ต้องรีบนำตัวออกมาทันที กรณีที่เป็นประชาชน ไม่มีเครื่องมือตรวจวัดปริมาณก๊าซ ให้ใช้วิธีการสังเกต หากเป็นบ่อน้ำให้ดูสีและกลิ่น หากมีสีดำเข้ม และให้ใช้ไม้กวนน้ำเพื่อให้ก๊าซไข่เน่าฟุ้งกระจายออกมา หากมีกลิ่นเหม็นรุนแรงเหมือนไข่เน่า ให้สันนิษฐานว่ามีก๊าซไข่เน่าอยู่ ห้ามลงไปเด็ดขาด หากเป็นบ่อน้ำร้างมีเศษขยะ และซากพืช ซากสัตว์จนน้ำมีสีดำเข้มก็ไม่ควรลงไป ประการสำคัญห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่อับอากาศ โดยเฉพาะบริเวณบ่อน้ำท่อน้ำที่เน่าเสียมาก เนื่องจากอาจมีก๊าซมีเทน หรือก๊าซไวไฟอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการระเบิดได้

          ในการช่วยเหลือผู้ได้รับอันตรายจากการทำงานในที่อับอากาศ ให้ใช้การดึงเชือกขึ้นมาแทนการลงไป หากลงไปช่วยจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองอย่างดี เช่นสวมอุปกรณ์ป้องกันก๊าซพิษ หลังจากนั้นให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้นอนราบในที่อากาศถ่ายเทดี หากพบว่าไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น ให้ผายปอดและนวดหัวใจ และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือโทรแจ้ง 1669

*************************27 มีนาคม 2557

 



   
   


View 13    28/03/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ