รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทย แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารยูเอ็นเอดส์ ซึ่งไทยเป็นประธาน สามารถทำให้ที่ประชุมรับรองแผนงบประมาณยูเอ็นเอดส์ วงเงินกว่า 15,000 ล้านบาท รวมทั้งข้อตกลงการปฏิรูปยูเอ็นเอดส์ และการดำเนินการมาตรการทางสังคม เพื่อควบคุมปัญหาเอดส์เป็นผลสำเร็จ วันที่ 27 มิถุนายน 2550 นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวจากนครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารยูเอ็นเอดส์ที่ไทยเป็นประธาน บรรลุผลสำเร็จที่สำคัญ 3 ประการคือ 1.บรรลุข้อตกลงในการปฏิรูปโครงสร้าง และกลไกการทำงานของยูเอ็นเอดส์ โดยให้องค์กรภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น มีสิทธิ์เท่าเทียมกับสมาชิกอื่นในการแสดงความเห็น และองค์การระหว่างประเทศต่างๆ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ธนาคารโลก (WB) ยูนิเซฟ (UNICEF) ยูเอ็นดีพี (UNDP) จะทำงานประสานงานกันมากขึ้น ภายใต้ระบบงบประมาณเดียวกัน 2.บรรลุข้อตกลงในการรับรองงบประมาณ ที่เป็นเอกภาพของทุกองค์กรในการทำงานด้านเอดส์ รวมกว่า 15,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ไทยได้ร่วมกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นรองประธาน ดำเนินการเจรจากับประเทศอื่นๆ ที่มีท่าทีจะไม่ยอมรับแผนงบประมาณในตอนแรก แต่ในที่สุดก็ได้รับฉันทามติ รับรองแผนงบประมาณของยูเอ็นเอดส์มูลค่ากว่า 15,000 ล้านบาท และ 3.บรรลุข้อตกลงในการเน้นการทำงานที่เป็นรูปธรรม ในการใช้มาตรการทางสังคม โดยเฉพาะการสร้างความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย และละเว้นการตีตราบาปให้กับผู้ติดเชื้อ “ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย มีความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชาย พบว่าสตรีที่ติดเชื้อเอดส์กว่าร้อยละ 60 ติดจากสามี ดังนั้นถ้าจำเป็นอาจต้องให้ผู้หญิงขอให้สามีใส่ถุงยางอนามัยด้วย ยกเว้นถ้าต้องการมีบุตร เรื่องนี้จะขอให้คณะกรรมการที่คุณมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธาน ช่วยรับไปพิจารณา นอกจากนี้ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ มีคนที่ติดเชื้อเอดส์และฆ่าตัวตายถึงร้อยละ 30 แสดงว่ามีการตีตราบาปสูงมาก ดังนั้นเราต้องจริงจังในการใช้มาตรการทางสังคมมากขึ้น ปัญหาเอดส์เป็นปัญหาทางสังคมไม่ใช่ปัญหาทางสาธารณสุขเท่านั้น ท่านรองนายกฯไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการเอดส์แห่งชาติ กำลังเสนอทบทวนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการควบคุมปัญหาเอดส์ โดยทำให้กลไกคณะกรรมการเอดส์แห่งชาติเป็นกลไกทางสังคมจริงๆ ไม่ใช่กลไกทางสาธารณสุขเท่านั้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนข้อเสนอนี้อย่างเต็มที่” นายแพทย์มงคลกล่าว นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว เคยเสนอเข้าครม.แล้ว แต่มีบางหน่วยงาน เช่น สำนักงานก.พ. ก.พ.ร. และสำนักงบประมาณ มีความเป็นห่วงเกรงว่าจะมีการตั้งหน่วยงานใหม่เกิดขึ้น จึงให้มีการนำกลับมาทบทวนอีก “ที่จริงไม่ใช่การตั้งหน่วยงานใหม่ แต่เป็นการย้ายสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการเอดส์ชาติ ออกจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เกิดการประสานงานกับทุกองค์กร เกิดความเป็นเจ้าของร่วมกัน และล้างภาพเก่าๆ ที่ว่าเอดส์เป็นปัญหาสาธารณสุข แต่จะสร้างภาพใหม่ว่า ปัญหาเอดส์เป็นปัญหาสังคมร่วมกัน” นายแพทย์มงคลกล่าวยืนยัน ในที่ประชุมครั้งนี้ ข้อเสนอของไทยที่ให้ผู้แทนภาคประชาสังคม (NGOs) มีสิทธิ์เท่าเทียมกับกรรมการอื่นๆ ในการแสดงความเห็น ได้รับการนำมาปฏิบัติเป็นครั้งแรก และไทยยังได้เชิญ ดร.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ จากสภากาชาดไทย เป็นประธานคณะทำงานร่างข้อมติการประชุมกรรมการบริหารยูเอ็นเอดส์ด้วย ซึ่งแสดงถึงรูปธรรมในการยอมรับการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคม โดยไม่ต้องรอแก้ไขระเบียบการประชุม ทำให้เป็นที่ชื่นชมของประเทศสมาชิกและองค์กรภาคประชาสังคม นอกจากนี้สมาชิกต่างๆ รวมทั้งนายแพทย์ปีเตอร์ พิอ็อต (Dr.Peter Piot) ผู้อำนวยการบริหารโครงการยูเอ็นเอดส์ ก็ยังชื่นชมไทยที่ได้เชิญคุณมีชัย วีระไวทยะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ให้มาเป็นประธานอนุกรรมการด้านการป้องกันในคณะกรรมการเอดส์แห่งชาติ อันเป็นอีกรูปธรรมหนึ่ง ของการให้องค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทนำด้วย ********************************* 27 มิถุนายน 2550


   
   


View 7    27/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ