รมช.สาธารณสุข เผยโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและมลพิษสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สาเหตุใหญ่เกิดจากท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม ทำงานในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงอันตราย และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ จึงมอบกรมควบคุมโรควางแผนแก้ปัญหา ทั้งที่เกิดแล้วและกำลังจะเกิดในอนาคต เน้นทุกฝ่ายมีส่วนร่วม วันนี้ (27 มิถุนายน 2550) นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในการประชุมวิชาการ เรื่อง การป้องกันควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ที่โรงแรมมารวย การ์เด้นท์ กรุงเทพฯ ว่า จากข้อมูลของกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม พบว่าแม้จำนวนผู้เสียชีวิตจากการทำงานจะมีแนวโน้มคงที่ แต่จำนวนผู้ป่วยที่ต้องหยุดงานและทุพพลภาพ กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2549 การเจ็บป่วยจากการประกอบอาชีพ เกิดจากการยกหรือเคลื่อนย้ายของหนัก รวมทั้งการทำงานโดยมีท่าทางไม่ถูกต้อง มากที่สุด 5,851 ราย รองลงมาคือ โรคผิวหนัง 1,917 ราย เสียงดัง 41 ราย และโรคจากสารตะกั่ว 35 ราย สำหรับการบาดเจ็บจากการทำงานพบว่า การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นต่ออวัยวะหลายส่วน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความพิการและเสียชีวิต โดยอวัยวะที่สูญเสียมากที่สุดคือ นิ้วมือ รองลงมาเป็น มือและง่ามนิ้วมือ ซึ่งพบมากในงานที่เกี่ยวกับการปั๊มโลหะ “ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการประกอบอาชีพนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ หากมีการกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยให้รัดกุม และดำเนินการตามมาตรการนั้นอย่างเข้มงวด ขณะเดียวกันต้องวางแผนแก้ไขหาสุขภาพ อันเนื่องมาจากการปนเปื้อนของสารพิษในสิ่งแวดล้อมจากภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมกันด้วย” นายแพทย์มรกต กล่าว นายแพทย์มรกต กล่าวต่อว่า การดำเนินงานในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ได้มุ่งเน้น 3 ส่วน ได้แก่ การสร้างความตระหนักและการรับรู้แก่ประชาชน การประเมิน ความเสี่ยงการเกิดโรคในประชาชนกลุ่มเสี่ยง และการแก้ไขปัญหา โดยการสนับสนุนด้านวิชาการให้หน่วยงานในพื้นที่แก้ไขปัญหาร่วมกับภาคเอกชน ชุมชนและประชาชนที่เกี่ยวข้อง โดยครอบคลุมทั้งกลุ่มที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน เช่น สารเคมีรั่วไหลที่คลองเตย มลพิษทางอากาศในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ปัญหาเสียงดังจากเครื่องบินของสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น และกลุ่มที่คาดว่าจะเกิดปัญหาในอนาคต ได้แก่ โครงการขนาดใหญ่ต่างๆ รวมทั้งกิจการที่อาจก่อให้เกิดโรคหรือผลกระทบต่อสุขภาพ 22 ประเภท ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 สำหรับการประชุมวิชาการครั้งนี้ นอกจากการบรรยาย อภิปรายทางวิชาการ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ยังมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการ ทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ภาคบริการและ สิ่งแวดล้อม โดยนักวิชาการด้านโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างหน่วยงานและเครือข่าย นำไปพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้จัดให้มีการ มอบโล่แก่ เทศบาลนครตรังและเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ซึ่งมีการดำเนินงานควบคุมเสียงดังในสถานบันเทิงอย่างเป็นรูปธรรม โดยการออกเทศบัญญัติเรื่องเสียง นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางและนโยบายในการควบคุมปัญหาหมอกควันและปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” ด้วย ********************************* 27 มิถุนายน 2550


   
   


View 12    27/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ