กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ที่ทำงานในออฟฟิศ นั่งโต๊ะ นั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน เสี่ยงเกิดโรคออฟฟิศซินโดรม ชี้หากนั่งหลังค่อม มีผลกับกล้ามเนื้อคอ สะบัก หายใจไม่อิ่ม มีผลให้สมองได้รับออกซิเจนน้อยลง เกิดอาการสมองตื้อ ศักยภาพทำงานไม่เต็มร้อย ผลสำรวจในไทย พบพนักงานในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งเกิดอาการ ร้อยละ 60 อันดับ 1 ได้แก่ ปวดหลังเรื้อรัง รองลงมาคือ ปวดไมเกรน  และมือชา จากกล้ามเนื้อทับเส้นประสาท แนะให้นั่งเก้าอี้ทำงานถูกวิธี จัดเวลาออกกำลังกาย พักผ่อน ตรวจสุขภาพทุกปี 
          นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประชาชนไทย นิยมทำงาน ในสำนักงานหรือออฟฟิศมากขึ้น และใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ประกอบการทำงาน ทั้งชนิดตั้งโต๊ะ และชนิดพกพา ผู้ทำงานต้องนั่งทำงานอยู่กับที่เป็นเวลานาน เช่นในกรณีใช้งานออนไลน์ ร่างกายมีการเคลื่อนไหวน้อย สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ อาทิ หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือในทางการแพทย์เรียกว่าโรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยขึ้นในผู้ที่ทำงานในสำนักงาน บางรายที่มีอาการของหมอนรองกระดูกเคลื่อนอยู่แล้ว หากทำงานในอิริยาบถที่ผิดซ้ำเติมอีก  จะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น 
          นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า  ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2553 ทั่วประเทศมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 19 ล้านคน มีผลสำรวจพนักงานที่ทำงานในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในไทย  จำนวน 400 คน พบว่า ร้อยละ 60 มีภาวะดังกล่าว โดยโรคออฟฟิศซินโดรมที่พบบ่อยมี  3 อาการ ได้แก่ 1. ปวดหลังเรื้อรัง การใช้ชีวิตอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะการนั่งหลังค่อม จะทำให้กล้ามเนื้อที่ต้นคอ สะบัก เมื่อยตึงตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นสาเหตุสำคัญเกิดอาการปวดเมื่อย และการนั่งในท่าดังกล่าวจะทำให้หายใจไม่อิ่ม กระบัง ลมขยายไม่เต็มที่ สมองได้รับออกซิเจนไม่เต็มที่ จะทำให้เกิดอาการง่วงเหงาหาวนอน หรือที่เรียกว่าสมองไม่แล่น ศักยภาพทำงานไม่เต็มร้อย  2.ไมเกรนหรือปวดศีรษะเรื้อรัง ความเครียดการพักผ่อนไม่เพียงพอ แสงแดด ความร้อน และขาดฮอร์โมนบางชนิดก็เป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน และ 3.มือชา เอ็น อักเสบ นิ้วล็อค การอักเสบของ ปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็นนิ้วมือ พบมากขึ้นเพราะเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันของเรา ไม่ว่าจากการใช้คอมพิวเตอร์ การจับเมาส์ในท่าเดิมนาน ๆ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นจนอักเสบ เกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดอาการปวดของปลายประสาทนิ้วล็อค หรือข้อมือล็อคได้
          ขณะเดียวกันจากรายงานผลการสำรวจพนักงานออฟฟิศในประเทศแถบยุโรปพบว่า ส่วนใหญ่ต้องปรึกษาแพทย์ด้วยอาการต่างๆ เช่นกัน อันดับหนึ่ง คือ ปวดหลัง รองลงมา คือ ปวดบริเวณคอ/ไหล่ และปวดศีรษะตามลำดับ ซึ่งเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับการทำงาน และพบว่า กลุ่มคนทำงานอายุระหว่าง 16-24 ปี มีความเสี่ยงของการเกิดภาวะออฟฟิศซินโดรมสูงถึงร้อยละ 55
          ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ที่ทำงานในสำนักงานควรปฏิบัติ เพื่อลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยด้วยโรคออฟฟิศซินโดรม มีข้อแนะนำดังนี้ 1.ไม่ควรใช้เก้าอี้สปริงที่เอนได้ เพราะไม่มีการรองรับหลังเท่าที่ควร    ควรเลือกเก้าอี้ที่เอนได้   และมีความสูงของเก้าอี้และโต๊ะได้ระดับ  และมีหมอนหนุนหลัง 2. คอมพิวเตอร์ที่ใช้   ต้องปรับให้จออยู่ในระดับสายตา   คือ กึ่งกลางของจอ   อยู่ระดับสายตา  การพิมพ์งาน แป้นคีย์บอร์ดควรอยู่ในระดับข้อศอก ข้อมือ จะได้ไม่ต้องยกแขนขึ้นมาพิมพ์ 3.ปรับพฤติกรรมการนั่งเก้าอี้ขณะนั่งทำงาน โดยนั่งให้เต็มก้นคือหลังตรงชิดขอบด้านในของเก้าอี้   กะพริบตาบ่อย ๆ  พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุก ๆ 10 นาที เปลี่ยนท่าการทำงานทุก 20 นาที ยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและแขนทุก ๆ 1ชั่วโมง 4.ปรับอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เช่น ปรับพนักพิงให้รองรับกับหลังส่วนล่าง ถ้าไม่สามารถทำได้ใช้หมอนหนุนหลังส่วนล่างตั้งจอคอมพิวเตอร์และคีย์บอร์ดไว้ในแนวตรงกับหน้า ใช้เมาส์โดยพักข้อศอกบนที่รองแขน และสามารถเคลื่อนไหวได้แบบไม่จำกัดพื้นที่ เป็นต้น 5.หาต้นไม้ในร่มมาปลูก เพื่อช่วยดูดซับสารพิษและเป็นที่พักสายตาจากการต้องจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์  6.หมั่นออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละไม่ต่ำกว่า 30 นาที 7.รับประทานอาหารทั้ง 5 หมู่ให้ตรงเวลา 8. ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี 9.ควรเปิดหน้าต่างสำนักงานเพื่อให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเท อย่างน้อยในตอนเช้าที่อากาศยังไม่ร้อนมาก และตอนพักกลางวัน และ 10.ปรับอารมณ์ พยายามไม่เครียด ผ่อนคลาย แค่คุณลองทิ้งงานไปเดินเล่นสัก 10 นาที ก็ถือว่าได้ผ่อนคลาย
“ถ้ามีอาการเจ็บป่วยเหล่านี้เรื้อรัง เช่น ปวดไหล่ ปวดต้นคอ ปวดศีรษะ เครียดนอนไม่หลับ ถ้าปรับสถานที่ทำงานและปรับพฤติกรรมแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม โทร 02-591-8172 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” นายแพทย์โสภณกล่าว

                                                                                ******************************************  เมษายน 2557



   
   


View 11    07/04/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ