กระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้ประชาชนที่นำลูกสุนัขพันธุ์พุดเดิ้ล จำนวน 5 ตัว จากจังหวัดมหาสารคามไปเลี้ยงเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557   ให้รีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด่วนที่โรงพยาบาลในสังกัด  ทุกแห่งทั้งในต่างจังหวัดและในกทม.  เนื่องจากพบว่าทั้งแม่และลูก 1 ใน 5 ตัว ตายเนื่องจากติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557  ชี้โรคนี้อันตรายสูง   มีระยะฟักตัวหลายเดือนถึงเป็นปี แต่หากมีอาการป่วยจะเสียชีวิตทุกรายในเวลารวดเร็ว ปีนี้พบเสียชีวิตแล้ว 1 ราย ส่วนปี 56 เสียชีวิต 7 ราย             

                นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า  เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม ว่ามีสุนัขพันธุ์พุดเดิ้ล อายุ 3 ปี ตายขณะทำหมันกับสัตวแพทย์ที่จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557  ต่อมาได้ส่งหัวสุนัขส่งตรวจ และทราบผลเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 ยืนยันว่าติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมเคลื่อนที่เร็ว ร่วมกับปศุสัตว์  ลงพื้นที่เพื่อสอบสวนโรคทันที พบว่าสุนัขตัวดังกล่าว เป็นเพศเมีย ก่อนหน้านั้นคลอดลูก 5 ตัวประมาณเดือนมกราคม 2557 จากนั้นเจ้าของได้ส่งไปให้ญาติที่กรุงเทพฯเลี้ยง 2 ตัว  และลูกสุนัขดังกล่าว    ได้ส่งไปที่พิษณุโลก 1 ตัว และบุรีรัมย์ 1 ตัว  ต่อมาตัวที่ถูกส่งไปที่พิษณุโลกถูกรถชนตายและตัวที่ส่งไปที่จังหวัดบุรีรัมย์ก็ตาย  ผลการตรวจพบติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า  สำหรับลูกสุนัขอีก 3 ตัวที่เหลือ เจ้าของได้นำไปขายที่ตลาดนัดข้างมหาวิทยาลัยมหาสารคามเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 

          นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า   ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักโรคติดต่อทั่วไป สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สำนักงานป้องกันควบคุมโรคประจำพื้นที่กรุงเทพ  นครราชสีมา ขอนแก่น และ
พิษณุโลก ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่  และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม   บุรีรัมย์  และพิษณุโลก  ดำเนินการควบคุม ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัดเป็นการด่วนและใกล้ชิด 3 มาตรการ ได้แก่  
1.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ครอบคลุมในพื้นที่ดังกล่าว  2. ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนให้ประชาชนที่เลี้ยงสุนัขทั้งหมด  พาสุนัขไปฉีดวัคซีนที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ   3. ให้เร่งติดตาม ผู้สัมผัสที่เกี่ยวข้องกับสุนัขที่ติดเชื้อทั้งแม่และลูก 5 ตัว  ทุกราย ทั้งในจังหวัดมหาสารคาม กรุงเทพฯ พิษณุโลก และบุรีรัมย์  ไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยง หรืออุ้มเล่นก็ตาม ให้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกรายเป็นการด่วนที่โรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับทุกแห่งในต่างจังหวัดหรือในกทม. และให้แจ้งแพทย์ด้วยว่ามีประวัติสัมผัสกับสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ที่พบในจังหวัดมหาสารคาม   เพื่อป้องกันการเสียชีวิต  เนื่องจากโรคนี้ป้องกันได้ด้วยวัคซีน  แต่หากหลังติดเชื้อและมีอาการป่วยแล้ว  จะไม่มีหนทางรักษา เสียชีวิตทุกรายภายใน 10 วัน

          ด้านนายแพทย์โสภณ  เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์(Rabies) สัตว์นำโรคได้แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น ชะนี กระรอก โดยสัตว์นำโรคที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย คือ สุนัข ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าร้อยละ 95 มีสาเหตุมาจากสุนัขกัดหรือข่วน  รองลงมาคือ แมว ซึ่งสามารถตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในน้ำลายได้ 1-7 วัน ก่อนแสดงอาการโรคพิษสุนัขบ้า  

          โรคพิษสุนัขบ้าในคน  ระยะฟักตัวนานหลายเดือนถึงเป็นปี บางรายอาจสั้นมากคือไม่ถึงสัปดาห์ หรืออาจนานเกิน 1 ปี  อาการเริ่มแรก คือ เบื่ออาหาร เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย  คันรุนแรงบริเวณที่ถูกกัด และลามไปส่วนอื่น ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง พูดเพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ ปวดท้องน้อยและกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด โอกาสป่วยหลังถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วนขึ้นอยู่กับ  1. จำนวนเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าที่เข้าไปในร่างกาย  หากบาดแผลถูกกัดที่มีขนาดใหญ่ ลึกหรือมีบาดแผลหลายแห่ง เชื้อจะมีโอกาสเข้าสู่ร่างกายได้มาก  2. ตำแหน่งที่ถูกกัด หรือตำแหน่งที่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกาย เช่น ศีรษะ หรือ บริเวณที่มีปลายประสาทมาก เช่น มือหรือเท้า เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ระบบประสาทได้ง่าย 3. อายุคนที่ถูกสุนัขกัดหรือข่วน เช่น เด็กและผู้สูงอายุจะมีความต้านทานต่อโรคนี้ต่ำกว่าคนหนุ่มสาว และ 4. สายพันธุ์ของเชื้อชนิดนี้ ถ้าเป็นสายพันธุ์จากสัตว์ป่า อาการจะรุนแรงกว่าสายพันธุ์จากสัตว์เลี้ยง

          กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งกวาดล้างให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทยภายในพ.ศ. 2558   โดยเร่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงทุกตัว และควบคุมจำนวนสุนัขจรจัด   ในปี 2556 ทั่วประเทศมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 7 ราย ใน 6 จังหวัดได้แก่ ปราจีนบุรี 2 ราย  จ.สระแก้ว สงขลา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และเชียงรายจังหวัดละ 1 ราย  พบทุกกลุ่มอายุ ปีนี้มีรายงาน 1 ราย ที่จ.ปราจีนบุรี

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า  ประชาชนที่ต้องการซื้อลูกสุนัขไปเลี้ยง ขอแนะนำให้ปฏิบัติดังนี้ 1. ให้ซื้อจากแหล่งซื้อขายที่มีความน่าเชื่อถือคือมีประวัติพ่อแม่สุนัข ประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรค 2. หลังจากซื้อลูกสุนัขไปแล้ว  ให้รีบพาไปตรวจสุขภาพกับสัตวแพทย์และฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามเกณฑ์อายุ  เช่นวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าฉีดเมื่ออายุ 3 เดือนขึ้นไป   และ3. หากสุนัขเลี้ยงตายผิดปกติ  ขอให้ส่งหัวสุนัขตรวจ  ในกทม.ส่งที่สถานเสาวภา  สภากาชาดไทย  หรือที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  ในต่างจังหวัดส่งที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและอำเภอ      

ทั้งนี้ ในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มีข้อแนะนำดังนี้ 1. เจ้าของสุนัขต้องนำสุนัขไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสุนัขอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดนัดทุกปี 2.ต้องไม่ปล่อยสุนัขเลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง 3.ต้องช่วยกันลดจำนวนสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ หรือสุนัขที่ไม่มีผู้รับผิดชอบ 4. ลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดหรือทำร้าย  เน้น  5 อย่า             คือ 1.อย่าแหย่ให้สุนัข โกรธ   2. อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ  3. อย่าแยกสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ที่กำลังกัดกัน ด้วยมือเปล่า  4.อย่าหยิบ จานข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ5.อย่ายุ่ง หรือ เข้าใกล้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ   

นายแพทย์โสภณกล่าวต่ออีกว่า หากถูกสุนัขกัด  ขอให้ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หลายครั้ง กักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน และไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ถูกต้อง หากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีอาการดังนี้ หางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชน  และให้ช่วยกันจับโดยระวังอย่าให้ถูกกัด แล้วนำหัวสัตว์ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ  ประชาชนที่สนใจ   สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป            โทร 0-2590 3177-78 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422   



   
   


View 12    07/04/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ