กระทรวงสาธารณสุข เผยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 6 วัน ตรวจจับผู้กระทำผิดกฏหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว 313 ราย มากสุดคือความผิดการโฆษณา 142 ราย รองลงมาขายโดยไม่มีใบอนุญาต 46 ราย ขายโดยวิธีลดราคา แลกแจกแถม 40 ราย  

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกระทรวงสาธารณสุข ตามกฎหมายพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า ปัญหาการเมาสุราแล้วขับรถยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตและบาดเจ็บอันดับ 1  ของเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 นี้ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยของประชาชนส่วนรวม และในช่วงฉลองเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา 6 วัน สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค  ได้ตรวจทั้งหมด 823 ราย พบกระทำผิดตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างชัดเจน 313 ราย และตักเตือน 510 ราย  

ทางด้าน นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า  ฐานความผิดที่พบมากอันดับ 1 คือการโฆษณาสื่อสารการตลาด 142 รายโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 5 หมื่นบาทจนกว่าจะเลิกโฆษณา  อันดับ 2. ขายโดยไม่มีใบอนุญาต 46 ราย  โทษปรับไม่เกิน 500 บาท   3. ขายโดยวิธีลดราคา แลก แจก แถม 40 ราย  โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน  ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ     4. ขายในเวลาห้ามขาย 34 ราย  โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี  ปรับไม่เกิน 4 พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

5. ดื่มในสถานที่ต้องห้าม  เช่น  ดื่มบนถนน สวนสาธารณะ 33 รายโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  6. ขายในที่ห้ามขาย 15 รายโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 7. ขายให้เด็ก 3 รายโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในช่วงฉลองเทศกาลสงกรานต์ กรมควบคุมโรค โดยสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้บูรณาการทีมกับกรุงเทพมหานครและเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมตรวจสอบบริเวณถนนข้าวสาร พบคดีน่าสนใจคือ พบร้านหาบเร่แผงลอยที่ขายบนถนน ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มีใบอนุญาต และขายด้วยวิธีการต้องห้ามตามกฎหมายคือมีการส่งเสริมการขายด้วยการลดราคา

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการขายแบบหาบเร่แผงลอยโดยไม่มีใบอนุญาตขาย (ขายเถื่อน) ซึ่งได้รวบรวมหลักฐานเพื่อจับกุมดำเนินคดีอีกเป็นจำนวนกว่า 20 ราย และมีการจัดกิจกรรมสื่อสารการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการโฆษณาส่งเสริมการขายอีกเป็นจำนวนมาก  

***************************    16  เมษายน 2557



   
   


View 15    16/04/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ