“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 140 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข ประชุมวอร์รูมติดตามสถานการณ์โรคโคโรน่าไวรัสและโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เน้นให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ไทยยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโคโรน่าไวรัส แต่เชื้อมีโอกาสเข้ามาในไทยตลอดเวลา ส่วนไข้หวัดใหญ่จะดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกัน 3.4 ล้านโด๊ส ให้กลุ่มบุคลากรการแพทย์และประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมวอร์รูมแก้ไขปัญหาสาธารณสุข ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี เมื่อบ่ายวันนี้ว่า วันนี้ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหา 3 เรื่องได้แก่ อุบัติเหตุจราจรช่วงเทศกาลสงกรานต์ โรคติดเชื้อจากโคโรน่าไวรัส และโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 สำหรับอุบัติเหตุจราจรสถิติในรอบ 6 วันที่ผ่านมา ไม่แตกต่างจากปีที่แล้วคือยอดผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตลดลงเล็กน้อย แต่ต้องรออีก 1 วัน มีข้อสังเกตว่าการเสียชีวิตที่เกิดเหตุมีมากถึงร้อยละ 60 แสดงถึงปัญหามีความรุนแรง สาเหตุมาจากการดื่มสุรา ขับรถเร็ว จะต้องรณรงค์อย่างจริงจังต่อไป
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อว่า ในเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามเฝ้าระวังทุกสัปดาห์ ในเดือนเมษายนนี้มีแนวโน้มลดลงทั้งจำนวนป่วยและตาย ได้รับรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย แต่การระบาดกระจายไปทุกพื้นที่ ได้กำชับให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งทั่วประเทศ เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่เป็นไข้ ไอ มีน้ำมูก ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เพื่อลดการเสียชีวิต รวมทั้งให้มีมาตรการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลตามมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยต่อผู้ป่วยหรือบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วย
ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้กระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเพื่อใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว และจะฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำปี 2557 นี้ จำนวน 3 ล้าน 4 แสนโด๊ส เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 เป้าหมาย 2 กลุ่มคือ บุคลากรการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย และประชาชนกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่มได้แก่ 1. ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 2.ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคปอด 3. เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และ 4.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป รวมทั้งกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ โดยจะฉีดในโรงพยาบาลชุมชุมโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป ทั่วประเทศ
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรคโคโรน่าไวรัส หรือ เมิร์ส-โควี (Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus : MERS-CoV) ซึ่งเชื้อนี้อยู่ในตระกูลเดียวกับโรคซาร์ส มีแหล่งแพร่มาจากสัตว์เลี้ยงเช่น อูฐ พื้นที่เกิดโรคอยู่ในประเทศตะวันออกกลาง แนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยพบชาวมาเลเซียติดเชื้อและเสียชีวิตหลังเดินทางกลับจากพิธีอุมเราะห์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งมีพยาบาลประเทศฟิลิปปินส์ที่ติดเชื้อจากการทำงานที่ตะวันออกกลาง ขณะนี้ไทยยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ แต่เชื้อมีโอกาสแพร่มาไทยได้ตลอดเวลาจากการเดินทาง โดยเฉพาะการไปแสวงบุญที่ตะวันออกกลาง จึงจำเป็นต้องกระตุ้นเตือนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ให้ตระหนักและติดตามเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีไข้ ปอดบวม และมีประวัติเดินทางไปตะวันออกกลางจะต้องดูแลใกล้ชิด โรคนี้หากรู้เร็วก็จะสามารถควบคุมป้องกันแพร่ระบาดได้เร็ว ในปีที่ผ่านมาไทยมีระบบการติดตามในกลุ่มคนไทยที่ไปร่วมพิธีฮัจย์ โดยตั้งมิสเตอร์ฮัจย์ติดตามประชาชนหลังเดินทางกลับจากพิธีฮัจย์ ซึ่งมีประมาณหมื่นคน สามารถติดตามได้ทุกรายและไม่พบมีผู้ติดเชื้อแต่อย่างใด และปีนี้จะใช้ระบบเดียวกัน
************************ 17 เมษายน 2557