รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับมิสเตอร์ไข้เลือดออก ดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างเข้มงวด หากพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ให้ส่งทีมเคลื่อนที่เร็วควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง ช่วงฤดูฝนต้องระวังเป็นพิเศษ ย้ำให้ทุกบ้านช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 7 วัน โดยมาตรการป้องกันที่ได้ผลดีที่สุดคือความร่วมมือของชุมชนที่เข้มแข็ง วันนี้ (28 มิถุนายน 2550) ที่จังหวัดหนองคาย และอุดรธานี นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังพบปะอาสาสมัครสาธารณสุข และมอบนโยบายการดำเนินงานแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม.ว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม เป็นช่วงที่มียุงลายชุกชุม ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม.แนะนำประชาชน สำรวจและกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 7 วัน โดยในปี 2550 ตั้งเป้าลดอัตราป่วยเหลือร้อยละ 20 จากปี 2549 จากการประเมินสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในปีนี้ ตั้งแต่มกราคมจนถึง 23 มิถุนายน 2550 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 19,003 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 25 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 18 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุดในภาคกลาง 6,695 ราย เสียชีวิต 8 ราย รองลงมาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วย 5,385 ราย เสียชีวิต 1 ราย ภาคใต้พบผู้ป่วย 4,252 ราย เสียชีวิต 6 คน และภาคเหนือพบผู้ป่วย 2,671 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต “ไข้เลือดออกปีนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ประกอบกับเป็นปีระบาดของโรคไข้เลือดออก ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออกนับเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญว่าชุมชนเข้มแข็งหรือไม่ เพราะชุมชนที่เข้มแข็ง จะมีการกำจัดลูกน้ำยุงลายเป็นประจำ เนื่องจากได้รับความร่วมมือระหว่างประชาชน องค์กรท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะทำให้การป้องกันและปราบลูกน้ำยุงลายในชุมชนเป็นไปด้วยดี การป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ผล” นายแพทย์วัลลภ กล่าว นายแพทย์วัลลภ กล่าวต่อไปว่า ยุงลายตัวเมียที่เป็นต้นเหตุของโรคไข้เลือดออกร้อยละ 95 จะอาศัยอยู่ในบ้านคน ชอบวางไข่ตามน้ำใสที่ขังนิ่ง แหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายบ้านจึงมักอยู่ตามโอ่งน้ำดื่มและน้ำใช้ จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 65 เป็นภาชนะเก็บขังน้ำที่อยู่ภายในบ้าน และร้อยละ 36 เป็นภาชนะเก็บขังน้ำที่อยู่นอกบ้าน เช่น บ่อน้ำในห้องน้ำ จานรองขาตู้ จานรองกระถางต้นไม้ แจกัน ยางรถยนต์ ภาชนะใส่น้ำเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น โดยยุง 1 ตัวมีชีวิตได้นานถึง 30-45 วัน หลังจากดูดเลือดจะวางไข่ผลิตลูกได้ 400-600 ตัว เมื่อวางไข่แล้วจะใช้เวลาฟักเป็นตัวยุง 7-11 วัน ดังนั้นวิธีการป้องกันดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้ยุงเกิด ต้องช่วยกันเปลี่ยนน้ำในแจกันไม้ประดับ ขารองตู้กับข้าวทุก 7 วัน รวมทั้งอย่าปล่อยให้มีน้ำขังตามภาชนะรอบๆ บ้าน และปิดฝาโอ่งน้ำ ไม่ให้ยุงไปวางไข่ได้ ปริมาณยุงลายจะลดลง ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ได้กำชับมิสเตอร์ไข้เลือดออก ดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างเข้มงวด และให้ทุกอำเภอเป็นศูนย์กลางการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออก โดยมีศูนย์ปฏิบัติการและทีมเคลื่อนที่เร็วควบคุมโรคไข้เลือดออก สำหรับพื้นที่ที่มีผู้ป่วย ต้องออกไปควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง โดยพ่นสารเคมีที่บ้านของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตทุกราย เพื่อกำจัดยุงตัวที่มีเชื้อไข้เลือดออก และพ่นในรัศมี 100 เมตรรอบๆ บ้านผู้ป่วยและชุมชน เพื่อป้องกันยุงที่มีเชื้อไม่ให้ไปกัดคนอื่นหรือวางไข่แพร่พันธุ์ต่อไป *********************************** 28 มิถุนายน 2550


   
   


View 7    28/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ