“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 140 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้สภาพอากาศร้อนจัดในสัปดาห์นี้ คนไทย 6 กลุ่ม เสี่ยงป่วยโรคฮีทสโตรก หรือโรคลมแดดได้ง่าย ชี้โรคนี้อันตราย ถ้ามีอาการแล้วไม่รีบแก้ไขหรือรักษา มีโอกาสเสียชีวิตสูง สถิติปี 2546-2556 ไทยมีรายงานเสียชีวิต 196 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เฉพาะปี 2556 มีรายงาน 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาย ย้ำเตือนโดยเฉพาะคอทองแดง ควรละซดเหล้า เนื่องจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจทำงานหนักขึ้น อาจช็อคได้ แนะวิธีป้องกันควรดื่มน้ำมากๆ ผู้ที่เป็นโรคประจำตัวหากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะ ใจสั่น หน้ามืด ให้พบแพทย์ หรือโทรปรึกษา 1669
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข
มีความเป็นห่วงสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะในสัปดาห์นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าเป็นช่วงที่มีอากาศร้อนที่สุด ประชาชนบางกลุ่มอาจเจ็บป่วยจากอากาศร้อนจัดได้ ที่น่าห่วงและมีอันตรายสูงคือโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat stroke) ซึ่งเป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกาย จากผลของสภาพอากาศที่ร้อนจัด ซึ่งบางพื้นที่อาจสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยในระยะแรกร่างกายจะปรับตัวโดยการส่งน้ำหรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายในที่สำคัญเช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อ เป็นต้น ผิวหนังจึงขาดเลือดและน้ำไปหล่อเลี้ยง หากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ต่อเนื่อง อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิน 40 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคลมแดดได้สูงกว่าคนทั่วไป มี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่นออกกำลังกาย 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบและผู้สูงอายุ มีประมาณ 13 ล้านคน เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว 3.ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง มีประมาณ 4 ล้านคน ซึ่งมีปัญหาการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดเดิมอยู่แล้ว 4.คนอ้วน 5.ผู้ที่อดนอน โดยร่างกายของคนอ้วนและผู้ที่อดนอน จะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะในคนอ้วนจะมีไขมันใต้ผิวหนังมาก ไขมันจะเป็นฉนวนกันความร้อน ทำให้ร่างกายสามารถเก็บความร้อนได้ดี แต่ระบายความร้อนออกได้น้อยกว่าคนทั่วไปจึงเกิดปัญหาได้ง่าย
และ6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ขณะเดียวกันในสภาพอากาศที่ร้อนจัดแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว และออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น แรงดันในหลอดเลือดจึงสูงส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจทำงานต้องหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เลือดไปเลี้ยงที่ตับ ไตน้อยลง ทำให้ไตวาย ร่างกายอาจปรับสภาพไม่ทัน เกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหาจากอากาศร้อนมีผลกระทบต่อสุขภาพ 4 ระดับ ได้แก่ 1.ผิวหนังไหม้ (Sun burn) 2.ตะคริวจากความร้อน (Heat cramp) เนื่องจากสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปกับเหงื่อมาก 3.เพลียแดด (Heat exhaustion) จากร่างกายสูญเสียเหงื่อมาก ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อลดลง มีอาการหน้าซีด ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืด ตาลาย และ4.ลมแดด (Heat Stroke) เนื่องจากได้รับความร้อนมากหรือนานเกินไป ร่างกายจะร้อนจัด ทำให้สมองไม่ทำงาน ไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะภายในได้ สูญเสียระบบการควบคุมอุณหภูมิ โดยจะมีอาการตัวร้อนจัด หมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง ช็อค ผิวหนังแห้ง กระสับกระส่าย ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้เสียชีวิตได้
ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา รายงานในปี 2546-2556 มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดรวม 196 ราย โดยเป็นผู้สูงอายุมากที่สุด พบร้อยละ 16 รองลงมาคือผู้มีอาชีพรับจ้าง มีโรคประจำตัว และดื่มสุรา โดยเฉพาะปี 2556 มีผู้เสียชีวิตในเดือนมีนาคม - เมษายน จำนวน 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายและอายุมากกว่า 60 ปี และเสียชีวิตในบ้านมากที่สุด รองลงมาคือที่ทำงานและในรถยนต์
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า การช่วยเหลือผู้ที่มีอาการเป็นลมแดด ให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด คลายชุดชั้นในและถอดเสื้อผ้าออกให้เหลือน้อยชิ้น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อนหรือเทน้ำเย็นราดตัว เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลง และรีบส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ในรายที่อาการยังไม่มากควรให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ
ในการป้องกันอันตรายจากโรคลมแดด ในช่วงที่มีอากาศร้อนขอให้ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี ลดกิจกรรมที่ต้องออกแรงใช้กำลังกลางแจ้ง ให้อยู่ภายในบ้านหรือร่มไม้เท่าที่จะเป็นไปได้ ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวสู้กับอากาศร้อนได้ เนื่องจากน้ำเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และอย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดกลางแจ้ง ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเป็นลมแดดสูงมาก ในผู้ที่ออกกำลังกายควรทำในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ซึ่งอากาศไม่ร้อนมาก และให้ทำค่อยเป็นค่อยไป ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวหากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียนปวดศีรษะ ใจสั่น ขอให้พบแพทย์หรือโทรปรึกษาสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
******************************* 23 เมษายน 2557