“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 138 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังเชื้อไวรัส “ไวรัสเมอร์ส-โควี” เข้มข้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดสู่คนไทย โดยเน้นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ป่วยหลังดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ผู้ป่วยที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค กลุ่มผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรง จนถึงบัดนี้ยังไม่พบผู้ป่วย ขณะที่สถานการณ์ต่างประเทศ พบยอดผู้ป่วยเพิ่มเป็น 243 ราย เสียชีวิต 93 ราย ใน 13 ประเทศ ย้ำขอความร่วมมือประชาชนไทยทุกคน หากป่วยเป็นไข้หวัด หลังเดินทางกลับจากประเทศที่มีโรคระบาดภายใน 30 วัน ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติเดินทาง เพื่อผลในรักษาและการควบคุมป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาด
ตามที่สื่อมวลชนรายงานข่าว พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2012 หรือ เมอร์ส-โควี ใน 13 ประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ล่าสุดมีรายงานในประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์นั้น
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้ (24 เมษายน 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้จัดระบบการเฝ้าระวังโรคนี้ทุกจังหวัด ในกลุ่มผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด และผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน และผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย หากพบจะให้การดูแลเป็นพิเศษ ให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในสถานพยาบาลในระดับสูงสุดเช่นเดียวกับโรคซาร์ส และมอบให้กรมควบคุมโรควางแผนการเฝ้าระวัง สอบสวนและควบคุมโรคอย่างเข้มข้น และส่งสารคัดหลั่งและเลือดเพื่อตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกราย
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ผลการเฝ้าระวัง จนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเมอร์ส – โควี แต่อย่างใด ผู้ป่วยปอดบวมที่พบเกิดจากติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียทั่วๆ ไป อย่างไรก็ดี ต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ที่เดินทางไปหรือมาจากประเทศตะวันออกกลาง หลังจากเดินทางถึงประเทศไทย 30 วัน หากป่วยมีไข้ ไอ เจ็บคอ ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดูแลและสามารถควบคุมป้องกันโรคได้ทันท่วงที
ด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน ที่มีอาการรุนแรงคล้ายโรคซาร์ส เชื้อจะลุกลามเข้าปอดอย่างรวดเร็ว ติดต่อได้ง่ายจากการไอจาม โดยผู้ป่วยที่อาการรุนแรงเกือบทั้งหมดร้อยละ 96 มีโรคประจำตัว 1 โรคหรือมากกว่า ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โดยขณะนี้กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2012 จำนวน 1 ราย เพศชาย อายุ 72 ปี ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยวิธีการตรวจแยกสายพันธุ์กรรมหรือพีซีอาร์ (PCR) พบว่า เป็นโรคไข้หวัดใหญ่เทียม (parainfluenza) โดยรายนี้มีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ความดัน และโรคหัวใจ มีประวัติเดินทางไปประเทศซาอุดิอาระเบีย ระหว่างวันที่ 15 - 19 เมษายน 2557 ป่วยเป็นไข้หวัดก่อนเดินทาง และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ด้วยอาการหัวใจเต้นผิดปกติ หลังเดินทางกลับประเทศไทย วันที่ 19 เมษายน 2557 มีอาการขาบวม เหนื่อยมากขึ้น และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แล้วถูกส่งตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐตามต้นสังกัด อาการหลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีไข้สูง 38.6 องศาเซลเซียส เหนื่อยมาก และมีอาการบวม ปัจจุบันอยู่ในห้องแยกเชื้อ และอาการทั่วไปปกติแล้ว
ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2012 หรือ เมอร์ส-โควี ทั่วโลก ตั้งแต่เดือนกันยายน 2555 ถึงวันที่ 17 เมษายน 2557 พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโรคนี้ ทั้งหมด 243 ราย เสียชีวิต 93 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตายร้อยละ 38 ใน 13 ประเทศ ได้แก่ จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ อังกฤษ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝรั่งเศส ตูนีเซีย เยอรมันนี อิตาลี โอมาน คูเวต มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยองค์การอนามัยโลก แนะนำให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศ เฝ้าระวังโรคในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจรุนแรงเฉียบพลัน (Severe acute respiratory infection ; SARI) และติดตามความผิดปกติต่างๆ อย่างใกล้ชิดยังไม่แนะนำให้มีการจำกัดการเดินทางไปยังประเทศใด ไม่แนะนำให้ตั้งจุดตรวจคัดกรองพิเศษที่สนามบิน
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้คนที่เป็นหวัดและการอยู่ในสถานที่แออัด หากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดคือ ไข้สูง ไอ มีน้ำมูก ขอให้ใส่หน้ากากอนามัย และหยุดพักอยู่ที่บ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วันให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา พร้อมบอกประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอถึง 2 วัน ทั้งนี้กรมควบคุมโรค จะปรับปรุงแนวทางดำเนินงานและคำแนะนำ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค http://beid.ddc.moph.go.th และสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค http://www.boe.moph.go.th หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422
********************************** 24 เมษายน 2557