“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 140 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมวางระบบการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ 5 กลุ่ม ได้แก่ ยา วัสดุการแพทย์ วัสดุทันตกรรม วัสดุวิทยาศาสตร์การแพทย์ และวัสดุสำนักงาน และนำจริยธรรมการส่งเสริมการขาย จัดซื้อจัดหา และการใช้มาปรับใช้ครอบคลุมทั้งผู้ขาย ผู้ซื้อ และผู้ใช้ ป้องกันการทุจริตและผลประโยชน์ทับซ้อน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2557 เพื่อทันใช้ในปีงบประมาณ 2558 พร้อมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่คอรัปชั่นเวลาราชการ
บ่ายวันนี้ (29 เมษายน 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายระบบบริการสุขภาพ ว่า การประชุมในวันนี้เน้น 2 เรื่องสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งเดินหน้า ได้แก่ 1.การป้องกันการทุจริตในการบริหารเวชภัณฑ์ รวมทั้งการแก้ปัญหาเวลาปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในเวลาราชการ 2.เรื่องการพัฒนาเขตบริการสุขภาพ
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในการป้องกันการทุจริตในการบริหารเวชภัณฑ์นั้น จะเน้นการสร้างธรรมาภิบาลการจัดซื้อจัดจ้างใน 5 ประเภท ได้แก่ ยา วัสดุการแพทย์ วัสดุทันตกรรม วัสดุวิทยาศาสตร์การแพทย์ และวัสดุสำนักงาน ไม่ให้ถูกครอบงำโดยภาคธุรกิจหรือการมีผลประโยชน์ทับซ้อนแอบแฝง โดยในการจัดซื้อยาจะนำจริยธรรมการส่งเสริมการขาย การจัดซื้อจัดหา และการใช้ที่นำเข้าสมัชชาสุขภาพไปแล้ว แต่ยังไม่ผ่านขั้นตอนการประกาศใช้เป็นกฎหมายบังคับใช้ทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะนำมาปรับใช้ก่อน โดยจะครอบคลุมทั้งผู้ขาย ผู้ซื้อ และผู้ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และเกิดความชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่การประกาศราคากลาง การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง และมีระบบติดตามการจัดซื้อจัดจ้างทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลศูนย์จนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
โดยได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทั้งหมด 5 ชุด ประกอบด้วย ผู้เกี่ยวข้องจากโรงพยาบาลทุกระดับ กรมต่างๆ รวมทั้งตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพและชมรมต่างๆ เพื่อวางระบบการจัดซื้อจัดจ้าง และระบบการติดตามกำกับให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2557 เพื่อให้สามารถใช้ได้ในปีงบประมาณ 2558 พร้อมกันนี้ยังได้หารือการแก้ไขปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่ใช้เวลาราชการไปทำงานส่วนตัวหรือทำงานสาย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน และให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับในเรื่องเขตบริการสุขภาพซึ่งมีทั้งหมด 12 เขต แต่ละเขตดูแลประชาชนเฉลี่ยเขตละประมาณ 4 – 5 ล้านคน ได้กำหนดจัดบริการ 10 สาขาและพัฒนาให้เหมือนกันทุกเขต เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง อุบัติเหตุ ทารกแรกเกิด จิตเวช ตา ไต ทันตกรรม โรคไม่ติดต่อ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง สมองขาดเลือด และ 5 สาขาหลัก คือ สูติกรรม ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวชกรรม และกระดูก ในแต่ละเขตจะพัฒนาระบบการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคอย่างสมบูรณ์แบบครอบคลุมการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ และศูนย์เชี่ยวชาญด้วยคุณภาพมาตรฐาน และจัดปัจจัยสนับสนุน ทั้งบุคลากร เงิน เครื่องมือ เทคโนโลยีทางการแพทย์ ให้เพียงพอ โดยมีคณะกรรมการเขตบริการสุขภาพบริหารจัดการ ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลแต่ละระดับที่อยู่ภายในเขตได้รับการพัฒนาอย่างมีทิศทางสมเหตุสมผล ไม่ซ้ำซ้อน ประชาชนภายได้รับบริการเท่าเทียมกันนายแพทย์ณรงค์ กล่าว
************************************* 29 เมษายน 2557