“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 140 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยไทยมีโอกาสเสี่ยงเชื้อไวรัสเมอร์สเข้าประเทศ ตั้งมิสเตอร์ฮัจญ์ประจำพื้นที่พิเศษ 53 จังหวัด จัดระบบเฝ้าระวังเข้มทั้งในชุมชน โดย อสม.ฮัจญ์ และโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศทั้งรัฐ-เอกชนรวมทั้งกทม. หากพบผู้ป่วยทางเดินหายใจที่เดินทางกลับจากตะวันออกกลาง ให้แจ้งสำนักระบาดวิทยาหรือกทม.ทันที และวันนี้ได้จัดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดที่มีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปแสวงบุญ มิสเตอร์ฮัจญ์ และบริษัทผู้ประกอบการท่องเที่ยว 8 บริษัท สร้างเป็นเครือข่ายในระบบการเฝ้าระวังผู้ป่วย
วันนี้ (30 เมษายน 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมติดตามความคืบหน้าสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือเมอร์ส-โควี (MERS-CoV) ว่า ขณะนี้พบการระบาดในประเทศซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรต ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 30 สำหรับประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดจนถึงวันที่ 27 เมษายน 2557 ยังไม่พบผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า มีผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวัง 10 คนจาก 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี 4 ราย กทม. 3 ราย ปัตตานี 2 ราย และสมุทรปราการ 1 ราย ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ทุกรายไม่พบเชื้อชนิดนี้
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีโอกาสเสี่ยง เนื่องจากมีผู้เดินทางไปประเทศแถบตะวันออกกลาง ทั้งการประกอบธุรกิจ ท่องเที่ยว และประกอบศาสนกิจ ในเดือนที่ผ่านมามีผู้เดินทางมาจากประเทศตะวันออกกลาง จำนวน 18,000 คน และมีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปประกอบศาสนกิจที่ประเทศตะวันออกกลางประมาณ 14,000 คน และเดินทางไปร่วมพิธีฮัจญ์ปีละประมาณ 10,400 คน จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นในระบบการเฝ้าระวังผู้ป่วยทุกจังหวัด ทั้งในชุมชนและในโรงพยาบาลควบคู่กัน โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชาวไทยมุสลิม เดินทางไปแสวงบุญซึ่งมี 53 จังหวัด ได้ตั้งมิสเตอร์ฮัจญ์ให้การดูแลเป็นพิเศษและทำงานร่วมกับอสม.ฮัจญ์ ซึ่งในบ่ายวันนี้ กรมควบคุมโรคจะประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด มิสเตอร์ฮัจญ์ใน 53 จังหวัด และบริษัทผู้ประกอบการท่องเที่ยว 8 บริษัทซึ่งมีบริษัทย่อยๆอีก 26 บริษัท เพื่อสร้างเครือข่ายในระบบการเฝ้าระวังผู้ป่วย
สำหรับระบบการเฝ้าระวังในชุมชน ได้ให้อสม.ฮัจญ์ ติดตามอาการผู้ที่เดินทางกลับจากประกอบศาสนกิจที่ประเทศตะวันออกกลางเป็นเวลา 14 วัน ส่วนระบบการเฝ้าระวังในโรงพยาบาล ซึ่งมีความสำคัญมากและเป็นจุดที่มีโอกาสพบผู้ที่อาจติดเชื้อที่แผนกผู้ป่วยนอกและที่ห้องฉุกเฉิน ได้เน้นย้ำให้โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และขอความร่วมมือโรงพยาบาลรัฐ เอกชน และโรงพยาบาลในพื้นที่กทม. ให้เคร่งครัดมาตรการป้องกันควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลตามมาตรฐานสากล และหากพบผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจและมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศตะวันออกกลาง ให้แจ้งที่งานระบาดวิทยาของโรงพยาบาล หรือแจ้งสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค หรือแจ้งกทม. เพื่อเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังป้องกันโรคทันที
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเชื้อไวรัสเมอร์สเป็นพิเศษ คือผู้ที่มีอาการปอดบวม และมีประวัติเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ 1.อาศัยหรือเดินทางมาจากประเทศแถบตะวันออกกลางในช่วง 14 วันก่อนป่วย 2.บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยปอดอักเสบหรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการที่ตรวจเชื้อทางเดินหายใจ 3.ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่มีอาการในข่ายน่าจะเป็น หรือดูแลผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสเมอร์สในช่วง 14 วันก่อนป่วย และ4.ผู้ป่วยปอดอักเสบ ที่ป่วยพร้อมกันหลายๆ คน
“จากการวิเคราะห์สถานการณ์ไวรัสเมอร์สพบว่า ในเดือนเมษายนนี้ มีจำนวนผู้ป่วยในประเทศซาอุดิอาระเบียมากกว่า 50 ราย เพิ่มขึ้นกว่าเดือนที่ผ่านมา และพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และมีผู้ป่วยติดเชื้อ หลังเดินทางกลับจากประเทศซาอุดิอาระเบียในประเทศเพื่อนบ้าน เช่นที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ไทยจึงมีความเสี่ยงพบผู้ป่วยได้ ดังนั้นมาตรการสำคัญที่ไทยต้องดำเนินการคือการเฝ้าระวัง ต้องตรวจให้พบผู้ป่วยโดยเร็ว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อสู่วงกว้าง โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลผู้ป่วย ขอให้ป้องกันตัวเองขณะดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจด้วย รวมทั้งการจัดระบบให้คำแนะนำ ให้ความรู้แก่ผู้ที่เดินทางเข้า-ออกไปประเทศตะวันออกกลางที่สนามบินต่างๆ ให้หลีกเลี่ยงจุดเสี่ยงต่อโรค เช่นการไปฟาร์มสัตว์ โดยเฉพาะอูฐ และจุดประสานงานเมื่อเจ็บป่วย โดยขณะนี้ กรมควบคุมโรคได้เปิดสายด่วนบริการให้คำแนะนำแก่ประชาชนเรื่องไวรัสเมอร์ส ที่หมายเลข 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายแพทย์โอภาสกล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้จัดระบบดูแลสุขภาพผู้ที่ไปพิธีฮัจญ์ เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อต่างๆ ตั้งแต่ก่อนเดินทาง โดยให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ ตรวจสุขภาพประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ และแจกสมุดประจำตัวเพื่อบันทึกข้อมูลสุขภาพ และฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น และไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งจัดหน่วยแพทย์ พยาบาล ตั้งเป็นโรงพยาบาลชั่วคราวขนาด 20 เตียง ที่เมืองมักกะห์ เมืองมาดีนา ทุ่งมีนา และเมืองอาระฟะห์ ให้บริการดูแลรักษาขณะอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งจัดระบบการเฝ้าระวังติดตามสุขภาพผู้แสวงบุญหลังกลับจากพิธีฮัจญ์ เป็นเวลา 1 เดือน
******************************** 30 เมษายน 2557