“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 140 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยขณะนี้ ประเทศไทยพบเด็กเกิดใหม่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ปีละกว่า 4,000 ราย มีประชาชนมียีนโรคนี้แฝงในตัวกว่า 22 ล้านคน หรือพบได้ทุก 1 ใน 3 คน พร้อมถ่ายทอดความผิดปกติให้ลูก ตั้งเป้าลดเด็กเกิดใหม่เป็นโรคนี้ในปี 2560 ลงร้อยละ 50 โดยจัดบริการตรวจคัดกรองหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 3 เดือนฟรี ในรพ.รัฐทุกแห่งและบริการตรวจเลือดสามีข้ามจังหวัดฟรี
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นวันธาลัสซีเมียโลก เพื่อกระตุ้นให้ทุกประเทศให้ความสำคัญในการป้องกันปัญหา เนื่องจากโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมจากพ่อแม่ไปยังลูก นับเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยที่สุดในโลก โดยขณะนี้ประชากรโลกร้อยละ 5 หรือ 350 ล้านคน เป็นพาหะโรคนี้และถ่ายทอดสู่ลูกได้ แต่ละปีทั่วโลกจะมีทารกเกิดใหม่เป็นโรคนี้ประมาณ 350,000 ราย ในจำนวนนี้ 1 ใน 3 หรือประมาณ 120,000 รายอยู่ในทวีปเอเชีย ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีการแตกตัวเร็วกว่าปกติทำให้มีอาการซีด ต้องถ่ายเลือด หรือกินยาตลอดชีวิต และสุขภาพอ่อนแอ เจ็บป่วยบ่อย มีปัญหาในการทำงาน การเรียน หากเป็นรุนแรงจะเสียชีวิต
สำหรับประเทศไทยมีผู้เป็นพาหะโรคนี้ประมาณร้อยละ 35 ของประชากรทั้งหมดหรือประมาณ 22 ล้านคน พบมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะไม่ปรากฏความผิดปกติให้เห็นภายนอก แต่มียีน(Gene) โรคนี้แอบแฝง กล่าวได้ว่าในประชากรทุก 3 คน จะมีคนเป็นพาหะ 1 คน และมีผู้เป็นโรคธาลัสซีเมียร้อยละ 1 หรือประมาณ 700,000 คน แต่ละปีมีหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 8 แสนคน ในจำนวนนี้มีโอกาสคลอดบุตรเป็นธาลัสซีเมีย 50,000 คน คาดว่าแต่ละปีจะมีเด็กทารกไทยเกิดใหม่เป็นโรคนี้ประมาณ 12,500 คน ในจำนวนนี้มีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล จำนวน 4,250 คนต่อปี หรือเฉลี่ยพบได้ 5 คนต่อเด็กเกิดใหม่ทุก 1,000 คน จึงต้องเร่งป้องกัน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลงให้ได้มากที่สุด
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าหมายภายในปี 2560 จะลดจำนวนเด็กเกิดใหม่ไม่ให้เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงลงจากเดิมให้ได้ร้อยละ 50 หรือประมาณ 2,100 คน ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งตลอดช่วงอายุขัยของผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย 1 คน จะมีค่ารักษาพยาบาลประมาณ 6 ล้านกว่าบาท เฉลี่ยเดือนละประมาณ 10,500 บาท หากสามารถดำเนินการป้องกันได้เป็นไปตามเป้า จะเป็นการลงทุนสร้างต้นทุนชีวิตเด็กไทยที่เกิดใหม่ มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการควบคุมโรคธาลัสซีเมียจะใช้ 2 แนวทางหลัก คือ1.การดูแลรักษาผู้ที่ป่วยแล้ว เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อายุยืนยาวออกไป ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง และ2.การลดจำนวนการเกิดโรคในเด็กเกิดใหม่ เน้นที่การตรวจเลือดหาความผิดปกติ โดยกรมอนามัย ได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง ตรวจคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ช่วงอายุครรภ์ 3 เดือนแรก ฟรี เพื่อวินิจฉัยความเสี่ยงเกิดโรคของทารกในครรภ์ เนื่องจากไทยมีผู้ที่มียีนผิดปกติเป็นพาหะของโรคนี้ ทั้งหญิงและชายประมาณ 22 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัว หากพบผลเลือดผิดปกติ ก็จะติดตามตรวจเลือดของสามีและหากผลเลือดของสามีผิดปกติด้วย ก็จะเข้าสู่ระบบการป้องกันทารกในครรภ์ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เนื่องจากเด็กในครรภ์มีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมียสูง
ทั้งนี้ ได้จัดระบบการตรวจเลือดทั้งหญิงตั้งครรภ์และสามีที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันด้วย โดยจัดระบบส่งต่อเลือดของสามีจากจังหวัดต่างๆ ทางไปรษณีย์ และดำเนินการตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน ทำให้รู้ผลได้เร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วย
นายแพทย์พรเทพกล่าวต่อว่า หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงและสามีเป็นโรคด้วย จะทำให้เด็กทารกในครรภ์ผิดปกติและเสียชีวิตภายในครรภ์หรือตายหลังคลอด 100 เปอร์เซ็นต์ และหญิงตั้งครรภ์ที่มีทารกผิดปกติอยู่ในครรภ์กว่าร้อยละ 75 จะมีอาการครรภ์เป็นพิษ คือมีอาการบวมและความดันโลหิตสูง ส่วนในรายที่มีอาการมาก เด็กที่คลอดออกมาจะมีอาการซีดเหลือง ตัวเล็กไม่สมอายุ หน้าตาแปลก คือหน้าผากใหญ่ โหนกแก้มสูง จมูกบาน ท้องโต เพราะตับม้ามโต ไม่มีแรงเพราะโลหิตจาง มักจะป่วยบ่อยเพราะติดเชื้อง่าย บางรายอายุสั้น เสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก
********************************* 8 พฤษภาคม 2557