กระทรวงสาธารณสุขเริ่มถ่ายโอนสถานีอนามัย 35 แห่งให้องค์การบริหารส่วนตำบล 30 แห่ง ใน 23 จังหวัดภายในปี 2550 หวังให้การดูแลสุขภาพประชาชนดีขึ้น ย้ำบุคลากรที่สมัครใจโอนไปอยู่ อบต. ไม่ได้ตัดขาดจากกระทรวงสาธารณสุข ทั้งยังได้รับการดูแลในเรื่องสิทธิประโยชน์ไม่น้อยไปกว่าเดิม วันนี้ (29 มิถุนายน 2550)ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงทิศทางนโยบายการกระจายอำนาจของกระทรวงสาธารณสุขแก่ผู้บริหาร นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หัวหน้าสถานีอนามัย ผู้ประสานงานการกระจายอำนาจสำนักงานสาธารณสุข และนักวิชาการ จำนวน 180 คน ในการเตรียมความพร้อมในการถ่ายโอนสถานีอนามัยแก่องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งจะเริ่มในปี 2550 นี้ เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการดำเนินงานพร้อมเงื่อนไข หลักเกณฑ์ต่างๆในการถ่ายโอนสถานีอนามัยให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นายแพทย์มงคลกล่าวว่า ขณะนี้ภารกิจการถ่ายโอนภารกิจสาธารณสุขภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังอยู่ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากลักษณะของภารกิจสุขภาพที่จะถ่ายโอนสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาชีวิต ได้แก่ภารกิจด้านรักษาพยาบาล การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมทั้งการสาธารณสุขทั่วๆไป ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่การรักษา ให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน 7 ภารกิจ ได้แก่การแก้ไขเด็กน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ การจัดหาและพัฒนาน้ำสะอาด การส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก กลุ่มเด็กวัยเรียนและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ และการสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาเงินอุดหนุนสุขภาพ หรือดำเนินการได้เพียงร้อยละ 20 จากภารกิจทั้งหมดที่ต้องถ่านโอนรวม 34 ภารกิจ เนื่องจากติดขัดที่ต้องเร่งดำเนินการปฏิรูประบบสุขภาพตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า ในปี 2550 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเริ่มถ่ายโอนประเภทหน่วยงาน คือสถานีอนามัย ซึ่งเป็นหน่วยบริการระดับตำบลหมู่บ้านมีทั้งหมด 9,765 แห่งทั่วประเทศ จากการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อเดือนเมษายน 2550 ได้มีมติให้ทดลองการถ่ายโอนสถานีอนามัยจำนวน 35 แห่งให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 30 แห่ง ซึ่งมีความพร้อมใน 23 จังหวัด โอนทั้งบุคลากร เงิน เครื่องมือ ซึ่งจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบโดยมุ่งประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และมุ่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีศักยภาพระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาพให้ได้ผลดีกว่าปัจจุบันและเสมอภาคอีกด้วย “บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขที่สมัครใจโอนไปอยู่อบต.นั้นถือว่าเป็นการเสียสละเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาตนเองให้ทันกับการพัฒนาของอบต. ซึ่งไม่ได้ตัดขาดจากกระทรวงสาธารณสุข เพราะว่ายังคงต้องทำงานเชื่อมโยงกับระบบบริการสุขภาพที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และบุคลากรที่โอนไป อบต.นั้นจะได้รับการดูแลในเรื่องสิทธิประโยชน์และความก้าวหน้าทางวิชาชีพไม่น้อยไปกว่าเดิม”นายแพทย์มงคล กล่าว ทั้งนี้สถานีอนามัย 35 แห่งที่จะโอนครั้งนี้อยู่ในจังหวัด เชียงใหม่ กำแพงเพชร จังหวัดละ 4 แห่ง สระแก้ว 3 แห่ง บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี ราชบุรี นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 2 แห่ง ตาก ลำปาง อุดรธานี กาฬสินธุ์ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ลพบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม จันทบุรี เพชรบุรี อุทัยธานี สุราษฎร์ธานี ชุมพร กระบี่ จังหวัดละ 1 แห่ง โดยจะประเมินผลสิ้นธันวาคม **************************** 29 มิถุนายน 2550


   
   


View 12    29/06/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ