สาธารณสุข  เผยต้นปีนี้พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วกว่า 3,000 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต เพราะหน้าฝนยุงจะชุกชุมมากที่สุด ประชาชนทุกวัยมีโอกาสเสี่ยงป่วยสูงกว่าฤดูกาลอื่น ขอให้ทุกบ้านช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 5-7 วัน พร้อมแนะวิธีดูแลผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออก เช่น เช็ดตัวบ่อยๆ ช่วยลดไข้ ดื่มน้ำเกลือแร่หรือน้ำผลไม้ คอยสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย ช่วงสำคัญที่สุดคือช่วงที่ไข้ลดลงประมาณวันที่ 3-4 หากพบซึมลง กินและดื่มไม่ได้ ขอให้สงสัยว่าอาจเกิดอาการช็อก ให้รีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อรักษาให้ทันท่วงที 

วันนี้(14 พฤษภาคม 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการพบยุงยักษ์ที่จังหวัดชัยภูมิ ว่า ยุงยักษ์จัดเป็นยุงรำคาญชนิดหนึ่ง ยุงชนิดนี้ไม่นำเชื้อโรคไข้เลือดออกมาสู่คน ไม่น่ากลัว ส่วนยุงที่น่ากลัวและนำโรคมาสู่คนและอยู่ใกล้ตัวหรืออยู่ในบ้านหลังเดียวกับประชาชน คือ ยุงลาย ซึ่งมีตัวเล็กกว่า ยุงชนิดนี้พบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งขณะนี้หลายที่มีฝนตก ทำให้เกิดแอ่งน้ำขังหรือมีน้ำขังอยู่ตามเศษวัสดุ เศษภาชนะต่างๆ กล่องโฟม จานรองกระถางต้นไม้ และกาบใบไม้ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้ ยุงลายจะวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นน้ำนิ่ง ใส และสะอาด ซึ่งน้ำฝนเป็นน้ำที่ยุงลายชอบวางไข่มากที่สุด เมื่อจำนวนยุงลายเพิ่มมากขึ้นก็มีโอกาสกัดคนและแพร่โรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน เพราะประชาชนทุกวัยเสี่ยงป่วยพอๆกัน   สถานการณ์โรคไข้เลือดออกปัจจุบัน สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 6 พฤษภาคม 2557 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 3,278 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คืออยู่ในวัยเรียนโดยพบมากที่สุดอายุ  15-24 ปีร้อยละ 21  รองลงมาคือ 10-14 ปีร้อยละ 20  และ 7-9 ปี ร้อยละ 12    

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ  และมอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำในชุมชน ครู นักเรียนและประชาชน ร่วมมือกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุก 5-7 วัน   หรือป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ตามแหล่งน้ำสะอาด  ซึ่งเป็นวิธีการลดจำนวนตัวยุงลายตัวแก่อย่างได้ผลดี โดยเน้นกิจกรรม 5ป 1ข ได้แก่  1.ป ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด  2.ป เปลี่ยนน้ำทุกๆ 7 วัน  3.ป ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะกักเก็บน้ำ 4.ป ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ5.ป ปฏิบัติเป็นประจำให้เป็นนิสัย  ส่วน 1ข คือ ขัดภาชนะที่อาจมีคราบไข่ยุงเกาะอยู่  รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนในการป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วยการนอนในมุ้งและทายากันยุง และการค้นหาผู้ป่วยโดยเร็ว เพราะหากผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกและได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ อย่างถูกต้อง จะลดจำนวนผู้ป่วยและลดการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้     

ด้านนายแพทย์โสภณ  เมฆธน  อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกที่พบในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดจากไวรัสเดงกี่  ซึ่งติดต่อคนสู่คนได้ โดยมียุงลายบ้าน เป็นตัวการนำเชื้อโรคที่สำคัญ  โดยยุงตัวเมีย ซึ่งจะออกหากินในช่วงกลางวันและดูดเลือดคนเป็นอาหาร  เมื่อยุงตัวนี้ไปกัดผู้ป่วยและไปคนอื่นอีกก็จะปล่อยเชื้อไวรัส หลังจากผู้ที่ถูกยุงกัดได้รับเชื้อ 5-8 วันก็จะปรากฏอาการป่วยได้

 นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า โรคไข้เลือดออกทำให้เสียชีวิตได้หากละเลยต่อการรักษา  จากข้อมูลพบว่ากลุ่มเสี่ยงกลุ่มใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 15-24 ปีมากที่สุด แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันมีการระบาดในกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะนักเรียนไปจนถึงวัยทำงาน โดยอาการหรือสัญญาณอันตรายของไข้เลือดออก ได้แก่ ไข้สูงลอยเกิน 2 วัน ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส  ผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร อาเจียน  เมื่อกินยาลดไข้แล้วไข้มักจะไม่ลดลง  หรืออาจลดลงชั่วคราวแล้วกลับมาสูงอีก หากมีอาการใดอาการหนึ่ง ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาให้ทันท่วงที เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออกในระยะแรกแล้ว มักให้ผู้ป่วยกลับมารักษาตัวที่บ้าน เนื่องจากโรคนี้ส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้นเอง ซึ่งผู้ดูแลก็สามารถใช้วิธีปฏิบัติง่ายๆ คือ การเช็ดตัวให้ผู้ป่วยไม่ให้ตัวร้อนจัด รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนและอาหารที่ทำให้ร่างกายสดชื่น เช่น น้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ และพักผ่อนมากๆ  และที่สำคัญต้องคอยเฝ้าสังเกตอาการที่เปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยอยู่เสมอ   “ช่วงที่สำคัญและถือว่าอันตรายที่สุดคือช่วงที่ไข้ลด ซึ่งมักจะอยู่ประมาณวันที่ 3-4 หลังป่วย ถ้าผู้ป่วยฟื้นไข้ คือมีอาการสดชื่น วิ่งเล่นได้ แสดงว่าหายป่วย และปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกแล้ว แต่ถ้าพบว่าผู้ป่วยซึมลง อ่อนเพลียมาก กินและดื่มไม่ได้ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ปวดท้องกะทันหัน หรืออาเจียนเป็นเลือด แสดงว่าเข้าสู่ภาวะช็อก หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับไปพบแพทย์อีกครั้งโดยเร็วที่สุด เนื่องจากพบว่าที่ผ่านมาผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มาพบแพทย์ช้าเกินไปในช่วงที่ไข้ลดแล้วช็อกนั่นเอง  นายแพทย์โสภณกล่าว 

                ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออกมียุงเป็นตัวแพร่พันธุ์  เมื่อมีคนในบ้านหรือข้างบ้านเป็นไข้เลือดออกควรจะบอกคนในบ้านหรือข้างบ้านว่า มีคนเป็นไข้เลือดออกด้วย และแจ้งสาธารณสุขให้มาฉีดยาหมอกควันเพื่อฆ่ายุง รวมถึงป้องกันยุงกัดสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งต้องช่วยกันกำจัดแหล่งแพร่พันธุ์ยุงที่อยู่ในบ้านหรือรอบบ้าน  ประชาชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง โทร 0 2590 3145 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 ***************************************     14 พฤษภาคม 2557

 



   
   


View 19    14/05/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ