กระทรวงสาธารณสุข คาดขณะนี้มีคนไทยกว่า 9 ล้านคน มีปัญหาสุขภาพจิต แต่มีเพียง 1 ล้านคนที่ได้รับการตรวจรักษา  เช่น โรคจิตเภทได้รับการรักษาเพียงร้อยละ 48  เด็กออทิสติกเพียงร้อยละ 10 สาเหตุเนื่องจากการขาดความเข้าใจ กลัวถูกมองว่าเป็นคนบ้า หรือกลัวผู้ป่วยจิตเวชถูกทำร้าย  เร่งพัฒนาระบบ ปีนี้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลจิตเวช ศูนย์สุขภาพจิต โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จัดบริการโยงใยกันทั้งระบบ ให้ผู้ป่วยและผู้ที่เริ่มมีปัญหาทุกสิทธิ์ ได้เข้าถึงการตรวจวินิจฉัย ยา ให้คำปรึกษา ดูแลฟื้นฟูต่อเนื่องทั้งเด็กและผู้ใหญ่ มาตรฐานเหมือนกันทุกที่ และเพิ่มมาตรการเชิงรุก ส่งเสริมสุขภาพจิตทุกกลุ่มอายุ ทุกชุมชนทั่วประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ     

          วันนี้ (15 พฤษภาคม 2557) ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต กทม. นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รอง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมบุคลากรสาธารณสุข พระภิกษุ ผู้นำชุมชน อสม. องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ ในงานวิชาการสุขภาพจิตระดับชาติ ปี 2557 ภายใต้หัวข้อ ผู้ป่วยจิตเวช รักษาได้ทุกที่ บริการดีทุกสิทธิ์” เพื่อพัฒนาระบบบริการประชาชนที่เจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพจิต เข้าถึงการตรวจวินิจฉัย และรักษาฟื้นฟูได้ทุกคนเหมือนกับผู้เจ็บป่วยทางกายทั่วๆ ไป           

นายแพทย์วชิระกล่าวว่า สภาพสังคมและเศรษฐกิจของไทยขณะนี้ มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะด้านสุขภาพจิต ซึ่งทำให้เกิดความเครียดในชีวิตประจำวันและเจ็บป่วยทางจิตใจได้  ผลการสำรวจระดับชาติล่าสุดในปี 2556 พบคนไทยร้อยละ 14  หรือ 9 ล้านกว่าคนมีปัญหาสุขภาพจิต  และในภาวะไม่ปกติเช่น ภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ขณะเดียวกันผลสำรวจขององค์การอนามัยโลกล่าสุดระบุว่าในประชากร 4 คนจะมีผู้มีปัญหาสุขภาพจิต 1 คน และอีก 2 คนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต เช่น เป็นญาติพี่น้อง คนในครอบครัว เป็นต้น ปัญหาสุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ เพราะมีผลกระทบต่อสังคม รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิตเช่นความเครียด ยังมีผล ทำให้เกิดการเจ็บป่วยโรคทางกายบางโรค ที่สำคัญคือ มะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อที่กำลังเป็นปัญหารุนแรงทั้งในไทยและทั่วโลก รวมทั้งยังนำไปสู่การใช้สารเสพติดต่างๆ และเกิดการทำลายสมองตามมา    

          นายแพทย์วชิระกล่าวอีกว่า ผู้ที่ป่วยทางจิตใจจะมองเห็นไม่ชัดเหมือนโรคทางกายอื่นๆ คนไทยส่วนใหญ่ยังมีความเข้าในเรื่องนี้น้อย ไม่รู้วิธีการแก้ไข บางรายอายไม่กล้าไปพบจิตแพทย์ เพราะกลัวจะถูกมองว่าเป็น คนบ้า” บางบ้านไม่กล้าพาผู้ป่วยออกนอกบ้านเพราะกลัวผู้ป่วยจะทำร้ายคนอื่น ทำให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตเข้าถึงบริการตรวจรักษาเพียงร้อยละ 11 หรือประมาณ 1 ล้านคน อีกกว่า 8 ล้านคนไม่ได้รับการรักษา ทำให้อาการกำเริบรุนแรงขึ้น ทั้งๆ ที่โรคนี้มียารักษา ควบคุมอาการและมีโอกาสหายขาดได้

ทั้งนี้ ในปี 2557 นี้ กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาระบบบริการประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตทุกราย ได้กำหนดให้เขตบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการจิตเวช (Psychiatric Service Plan) ในสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลจิตเวช โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง  มาตรฐานเดียวกัน   โดยจัดบริการเชื่อมโยงกัน  ผู้ป่วยจิตเวช และผู้ที่มีปัญหาทุกสิทธิ์สามารถเข้าถึงการตรวจรักษา การให้คำปรึกษาดูแลเชิงรุก และส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชนทั่วประเทศ มีการจัดคลินิกจิตเวชแยกเฉพาะ เพื่อให้บริการได้เป็นสัดส่วน โดยจัดทำบัญชียาจิตเวชที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน จำนวน 35 รายการแยกเฉพาะออกมา  เพื่อให้โรงพยาบาลบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น  เพิ่มเตียงผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อให้ผู้ป่วยได้รักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

ในระดับชุมชน หมู่บ้าน จะเน้นการส่งเสริมสุขภาพจิต ตามกลุ่มวัยต่างๆ 1.กลุ่มปฐมวัย เน้นตรวจพัฒนาการ 2.กลุ่มวัยเรียน เน้นไอคิว อีคิว  3.กลุ่มวัยรุ่น เน้นปัญหาพฤติกรรมวัยรุ่น เช่น ท้องไม่พร้อม 4.วัย ทำงานและวัยสูงอายุ ผู้พิการ เน้นการป้องกันโรคซึมเศร้า เพื่อให้คนไทยทุกคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตหรือต้องการคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต สามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ทุกแห่ง ป้องกันปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ

ด้าน นายแพทย์พงศ์เกษม  ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในปี  2556 กรมสุขภาพจิตได้ศึกษาการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยจิตเวชพบว่า ผู้ป่วยโรคจิตที่พบมากที่สุดคือโรคจิตเภทได้รับการรักษาเพียงร้อยละ 48 หมายความว่ามีผู้ป่วยเพียงครึ่งเดียวที่ได้รับการรักษา บางรายถูกล่ามโซ่ เป็นคนเร่ร่อน ในขณะที่โรคซึมเศร้าได้รับการรักษาร้อยละ 33 ส่วนผู้ป่วยจิตเวชเด็ก เช่นเด็กออทิสติก ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มมีพัฒนาการช้า มีปัญหาการเรียนได้รับการรักษาเพียงร้อยละ 10  เท่านั้น ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับโรคทางกาย นอกจากนี้ ยังพบเด็ก 0-5 ปี  มีพัฒนาการช้าถึงร้อยละ 30 และพบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่สูงเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค

 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาขาดแคลนทรัพยากรและบุคลากรด้านสุขภาพจิตและจิตเวช  โดยมีจิตแพทย์ 586 คน หรือ 0.91 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งตามความเป็นจริงควรจะมี 1,307 คน หรือ 2.03 คนต่อประชากร 100,000 คน พยาบาลจิตเวชมี 1,918 คน ขณะที่ความต้องการอยูที่ 6,249 คนหรือเฉลี่ย 9.72 คน ต่อประชากร 100,000 คน จึงต้องมีการพัฒนาบุคลากรสาขานี้อย่างเป็นระบบ ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว     

          นายแพทย์พงศ์เกษม กล่าวต่อว่า  เทคนิคในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชหลังกลับไปอยู่ที่บ้าน นอกจากดูแลเรื่องการกินยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอแล้ว คนในครอบครัวและชุมชนควรหลีกเลี่ยงการตำหนิติเตียนหรือแสดงความโกรธเกรี้ยว ซึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยหลายรายที่กลับไปอยู่บ้านและมีอาการกำเริบอีก เนื่องจากถูกกดดัน บีบคั้นจากคนรอบข้าง ทั้งที่รักษาหายแล้วและช่วยเหลือตนเองได้ ดังนั้นครอบครัวและชุมชนต้องช่วยกันโดยยอมรับให้โอกาส ซึ่งผู้ป่วยไม่ได้อยากให้สงสาร แต่อยากได้รับโอกาสมากกว่า

 

 ********************************** 15 พฤษภาคม 2557



   
   


View 21    15/05/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ