กระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชน หน้าฝน ระวังโรคฉี่หนู รอบ 4 เดือนแรกปีนี้พบผู้ป่วย 466 ราย ใน 53 จังหวัด เสียชีวิต 3 ราย  โดยพบในภาคอีสานมากที่สุด ให้ทุกจังหวัดและอสม.เร่งให้ความรู้ป้องกันโรค แนะผู้ที่มีแผลหรือรอยถลอกที่เท้าหรือขา  ควรหลีกเลี่ยงลุยน้ำย่ำดินโคลน หากป่วยคือมีไข้สูงทันทีทันใดปวดศีรษะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่อง ขอให้สงสัยว่าอาจป่วยโรคนี้ ให้รีบไปพบแพทย์ โรคนี้รักษาหายได้

          นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ว่า ในฤดูฝนทุกปี  มีหลายโรคที่อาจพบมากขึ้น เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก รวมทั้งโรคเล็ปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) หรือโรคฉี่หนู ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่เกิดมาจากหนูทุกชนิด โดยเชื้อจะอยู่ในฉี่ของหนูทุกชนิด ทั้งหนูนา หนูป่า หนูบ้าน หนูท่อ และเชื้อโรคไข้ฉี่หนูเข้าสู่ร่างกายคนได้ทางบาดแผล รอยถลอกต่างๆ โรคนี้แม้ว่ามียารักษาหาย แต่อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน หากได้รับการดูแลรักษาไม่ถูกต้องหรือล่าช้า   

          จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้ฉี่หนู สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่า  ตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2557 - 10 พฤษภาคม 2557 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศ  466 ราย ในพื้นที่  53 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 3 ราย พบได้ทั้งผู้ที่อยู่ในชนบทและอยู่ในเมือง กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือวัยแรงงงาน 35-54 ปี เมื่อแยกเป็นรายภาคพบว่า 4 ใน 5 จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยมากที่สุด อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู และมหาสารคาม ส่วนในภาคใต้มี 1 จังหวัดที่มีรายงานป่วยสูง คือ ระนอง โดยได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง และอสม.เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค และการดูแลเมื่อมีอาการป่วย เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ แต่อาจติดเชื้อและป่วยซ้ำได้อีก    

          ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบได้ทั่วโลก ขณะนี้พบได้ทุกภาคของประเทศไทย  ถือเป็นโรคประจำถิ่น นอกจากหนูที่เป็นตัวการหลักในการแพร่เชื้อ โรคนี้แล้ว เชื้อโรคนี้อาจพบปนอยู่ในปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว โค แพะ แกะได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่าหนู เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายโดยไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานาน   และอาจติดเชื้อตรงจากการสัมผัสเชื้อและกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่   ผู้ติดเชื้อโรคนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องมีเลือดออกใต้เยื่อบุตาขาว เป็นต้น  มีน้อยรายที่จะมีอาการรุนแรง และเสียชีวิต

          นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคไข้ฉี่หนูมีคำแนะนำดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ เนื่องจากหากมีเชื้อฉี่หนูอยู่ปริมาณเชื้อจะมีความเข้มข้นมาก และมีโอกาสเสี่ยงติดโรคสูง  2.ผู้ที่ต้องทำงานที่เสี่ยงต่อโรค เช่นเก็บเกี่ยวข้าวหรือดำนาในแปลงนา ขอให้ให้สวมถุงมือยาง  ใส่รองเท้าบู๊ท ป้องกันการเกิดบาดแผลที่เท้าหรือที่ขา 3.หมั่นล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกายหลังจากเสร็จภารกิจทำงาน  4.กำจัดขยะในบ้านเรือน ที่ทำงาน ให้สะอาด โดยเฉพาะเศษอาหารเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู                                

นายแพทย์โสภณกล่าวต่อไปว่า  หากมีอาการป่วยดังต่อไปนี้ คือมีไข้สูงทันทีทันใด  ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่อง ปวดกระบอกตา หลังจากการลุยน้ำขัง ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรคฉี่หนู  และรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหายขาดได้  อย่าซื้อยากินเอง  ซึ่งจากการติดตามประวัติในกลุ่มที่เสียชีวิต พบว่าส่วนใหญ่มักจะซื้อยาไปกินเอง โดยเฉพาะยาแก้ที่มีฤทธิ์แก้ปวดและลดไข้ด้วย  เพราะเข้าใจว่าเป็นไข้ทั่วไปที่เกิดจากการทำงานหนัก  จึงทำให้อาการรุนแรงขึ้น เชื้อโรคเข้าไปทำลายอวัยวะอื่น เช่นไต ทำให้ไตวาย  เสียชีวิตได้ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป 0 2590 3177 – 8 และ 02-590-3183 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422   

 ******************************************* 16 พฤษภาคม 2557



   
   


View 14    16/05/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ