“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 140 View
- อ่านต่อ
สาธารณสุขพัฒนางานบริการผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ที่นอนอยู่ที่บ้านและช่วยเหลือตนเองได้น้อย หรือขาดผู้ดูแล ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านคน โดยตั้งศูนย์เยี่ยมบ้านในโรงพยาบาลทุกแห่งเชื่อมโยงกันทั้งจังหวัด มีพยาบาลวิชาชีพเป็นผู้จัดการ เพื่อติดตามดูแลฟื้นฟูต่อเนื่องฟรี จัดอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นให้ญาติ/ผู้ป่วย ยืมใช้งานได้ เช่น รถนั่ง เครื่องดูดเสมหะเริ่มต้นแล้ว 5,000 แห่ง ผลบริการโดนใจครอบครัว พอใจสูงกว่าร้อยละ 95
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมวิชาการพยาบาลชุมชนระดับชาติ ประจำปี 2557 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กทม. เมื่อเช้าวันนี้ (22 พฤษภาคม 2557) ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งพัฒนาเขตบริการสุขภาพที่มี 12 เขต ครอบคลุมทุกจังหวัด เพื่อจัดระบบบริการดูแลสุขภาพ ให้ประชาชนทุกคน เข้าถึงบริการได้เท่าเทียมกันที่ ได้รับยาดี และคุณภาพดีเหมือนกัน ทุกแห่ง มีการลงทุนพัฒนาศักยภาพของสาขาบริการที่จำเป็นของโรงพยาบาลแต่ละระดับ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการรักษาใกล้บ้าน ในส่วนของการจัดบริการในโรงพยาบาล ต่อวันมีผู้ป่วยเข้าใช้บริการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ 1,203 แห่ง เฉลี่ยวันละ 4 แสนกว่าคน และมีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเฉลี่ยวันละ 4 หมื่นกว่าคน หรือประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยนอก งานส่วนนี้จะต้องเร่งลดปัญหาความแน่นแออัดของผู้มาใช้บริการ/ผู้ป่วย โดยการสร้างสุขภาพให้ประชาชน มีสุขภาพดี ไม่ป่วยง่าย ขณะเดียวกันกระจายบริการเช่นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อาการค่อนข้างคงที่แต่ต้องไปพบแพทย์ตามนัดเป็นประจำ สามารถไปใช้บริการที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เช่นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง ไม่ต้องไปที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลชุมชน
นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องอยู่ที่บ้านทั้งในเขตเมือง เขตชนบท ไปไหนไม่ได้ ซึ่งมี 3 ประเภท คือ นอนติดเตียง ช่วยตัวเองไม่ได้เลย ช่วยเหลือตนเองได้น้อย และช่วยตัวเอง ได้บางส่วน ต้องพึ่งพิงญาติอย่างน้อย 1 คน คอยดูแล เช่นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคชรา โรคมะเร็งระยะสุดท้าย รวมทั้งผู้พิการอื่นๆด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 2 ล้านคนทั่วประเทศ กระทรวงฯได้พัฒนาระบบการดูแล การฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อน และลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ญาติในการพาไปโรงพยาบาล ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางครั้งละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท ซึ่งจะมี ความยากลำบากในการเดินทางมากกว่าผู้ป่วยทั่วไป โดยได้ตั้งศูนย์ประสานการเยี่ยมบ้านในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้งจังหวัดเพื่อให้การติดตามดูแล เยี่ยมไข้ที่บ้านต่อหลังจากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน เนื่องจากอาการ คงที่แล้ว ขณะนี้มีแล้ว 5,000 กว่าแห่ง โดยมอบให้สำนักการพยาบาล เป็นแกนหลักดำเนินการ
ทั้งนี้ ศูนย์ประสานการเยี่ยมบ้านดังกล่าว มีพยาบาลวิชาชีพ เป็นผู้จัดการวางแผนการบริการเยี่ยมแต่ละครั้ง ซึ่งอาจมีแพทย์ นักกายภาพบำบัดฯ หรือจิตอาสาต่างๆ ร่วมทีมไปด้วย ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ภายในศูนย์ฯ จะมีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือที่ต้องใช้ดูแลให้ญาติยืมใช้ เช่น รถเข็นผู้ป่วยแบบนั่ง ชุดทำแผล เครื่องดูดเสมหะ ถังออกซิเจน สายยางให้อาหาร สายสวนปัสสาวะ เป็นต้น หลังจากที่เริ่มต้นมาได้เป็นปีที่ 3 พบว่าได้ผลดีมาก ผู้ป่วยที่นอนติดเตียงที่บ้าน ได้รับการดูแลสุขภาพต่อเนื่อง ลดปัญหาการเกิดอาการแทรกซ้อนได้ดี เช่นแผลกดทับ หรือปอดติดเชื้อลดลงได้มาก ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อย ครอบครัวและญาติพึงพอใจสูงกว่า ร้อยละ 95 ซึ่งบริการในส่วนนี้ สามารถพัฒนาเพื่อรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทยในอนาคตได้อย่างดีด้วย
***************************** 22 พฤษภาคม 2557