อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้แมลงกระเบื้องที่พบที่จันทบุรีเป็นแมลงที่นำเชื้อโรคมาสู่คนได้ โดยเฉพาะโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยของด้วงชนิดนี้มาจากแหล่งสกปรก หรืออาจเกิดโรคภูมิแพ้ได้ ย้ำเตือนหากพบอยู่ในบ้านต้องรีบกำจัดโดยใช้สารไซฟลูทรินผสมน้ำฉีดพ่น ไม่เป็นอันตรายต่อคน และควรรักษาความสะอาดบ้านเรือนให้โล่งเตียน
          จากกรณีที่พบแมลงกระเบื้องจำนวนมากอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 69 หมู่ที่ 11 ตำบลทับช้าง  อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี เป็นเวลากว่า 3 เดือน นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า กรมควบคุมโรคได้ให้กลุ่มกีฏวิทยาและควบคุมแมลงนำโรค สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่พร้อมทั้งทำการกำจัดแมลงดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า แมลงกระเบื้องจัดเป็นด้วงปีกแข็งขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์เดียวกันกับด้วงมอดแป้ง (ด้วงหนอนนก) แต่ต่างกันที่มีความเป็นอยู่สกปรกกว่าด้วงมอดแป้ง เป็นแมลงมีลำตัวกลมรี ตลอดลำตัวมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำและเปลือกค่อนข้างแข็ง ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นดินในที่ต่างๆ เช่น ใต้ไม้ผุๆ ใต้ก้อนหิน ตามรังมด รังปลวก อยู่ตามต้นพืชหลายชนิด หรืออยู่ตามบ้านเรือน ตามกองใบไม้ทับถม และตามที่ที่มีเชื้อราขึ้น บางทีอาจพบอยู่ตามซากสัตว์เน่าเปื่อย ตัวหนอนของด้วงชนิดนี้สามารถเดินได้เร็วและชอนไชเก่งมาก ชอบดินชื้นๆ ทั้งระยะตัวหนอนและระยะตัวแก่จะออกหาอาหารในเวลากลางคืน
ส่วนด้วงตัวแก่ที่อพยพเข้ามาอาศัยมากมายภายในบ้านเรือนหากเข้าหูอาจทำให้หูอักเสบได้ อาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจหรือแพ้ที่ผิวหนังได้ จากกลิ่นของมัน เกล็ดและขนที่หลุดร่วง หรือแม้กระทั่งหนามที่ขา นอกจากนี้ยังสามารถนำโรคอาหารเป็นพิษ 2 ชนิด ได้แก่เชื้ออีโคไล( Escherichia coli) ซึ่งพบในอุจจาระแหล่งสกปรกและเชื้อซาลโมเนล่า (Salmonella sp.) มาสู่คนได้ เชื้อโรคจะติดมาตามขาและลำตัวของมัน หากปนเปื้อนในอาหารหรือน้ำดื่มของคน จะทำให้ป่วยได้ ดังนั้นจึงขอแนะนำประชาชนหากพบจะต้องรีบกำจัดทันที
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันกำจัดแมลงกระเบื้อง หลักการคือลดหรือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของด้วง โดยรักษาความสะอาดบ้านเรือน และบริเวณบ้านให้โล่งเตียน กำจัดเศษใบไม้ทับถม ส่วนเศษมูลสัตว์ที่จะทำเป็นปุ๋ยคอก ควรตากแดดให้แห้ง แล้วเก็บไว้ในถุงที่มิดชิดหรือนำไปใช้ใส่ต้นไม้ทันที
หากต้องการป้องกันและกำจัดไม่ให้ด้วงเข้าไปอยู่ในบ้าน ให้ใช้แสงไฟนีออนดักล่อด้วงตัวแก่ก่อนที่จะเข้าบ้าน เนื่องจากด้วงชอบเล่นไฟนิออนตอนกลางคืน โดยให้ต่อหลอดไฟนิออนออกห่างจากตัวบ้านประมาณ 5-10 เมตร สูงจากพื้นประมาณ 2 เมตร ทำโคมสังกะสีโค้งๆ ครอบเหนือหลอดไฟไว้ แล้ววางกะละมังบรรจุน้ำครึ่งกะละมังผสมผงซักฟอก 1-2 กำมือคนให้ละลายไม่ต้องให้มีฟอง วางไว้บนพื้นใต้หลอดไฟ เมื่อมีฝูงด้วงมาเล่นไฟแล้วบินชนโคมไฟ ด้วงจะตกลงในกะละมังเมื่อปีกเปียกน้ำผสมผงซักฟอกจะไม่สามารถไต่หรือบินขึ้นมาได้และจะจมน้ำตายในที่สุด ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการกำจัดชั่วคราวช่วยลดความรำคาญได้ สำหรับบ้านที่มีตัวด้วงบุกเข้าไปอยู่ในบ้านแล้ว ให้ใช้ไม้กวาดและที่ตักผงกวาดรวบรวมตัวด้วงนำไปใส่ในกะละมังบรรจุน้ำผสมผงซักฟอกดังกล่าวเพื่อฆ่าฝูงด้วงได้เช่นกัน                                                                                                          
 “สำหรับการกำจัดด้วงชนิดนี้แบบถาวร ให้ใช้สารเคมีที่มีชื่อว่าสารไพรีทรอยด์ชนิด ไซฟลูทริน(cyfluthrin) สูตรน้ำมันละลายน้ำ (สูตร EC) โดยนำสารเคมีไปผสมกับน้ำให้ได้น้ำยาที่มีตัวสารออกฤทธิ์ 0.2 กรัมในน้ำยาที่ผสมแล้ว 50 มิลลิลิตร (หากจะใช้น้ำยาในปริมาณมากก็คำนวณเพิ่มได้) แล้วนำไปฉีดพ่นโดยใช้เครื่องพ่นแบบสูบอัดลม พ่นให้ละอองน้ำยาตกลงถูกตัวแมลงเป้าหมาย หรือพ่นบนพื้นผิวแหล่งที่อยู่อาศัยของด้วงเพื่อฆ่าระยะตัวหนอนด้วย โดยพ่นในปริมาณ 50 มิลลิลิตรต่อพื้นที่หนึ่งตารางเมตร หรือหากจะพ่นตามผนังอาคารบ้านเรือนที่ด้วงเคยมาเกาะก็สามารถทำได้แต่ต้องเลือกใช้สารไซฟลูทรินแบบสูตรผงละลายน้ำแทน (สูตร WP) เนื่องจากถ้าใช้สูตรน้ำมันพ่นบนผนังไม้ อิฐหรือปูน ผนังเหล่านี้จะดูดตัวสารออกฤทธิ์เข้าไปในเนื้อของมันเสียหมดเพราะสูตรน้ำมันจะมีอนุภาคเล็กกว่าแบบสูตรผง ฤทธิ์ของสารเคมีดังกล่าวเมื่อถูกตัวด้วงจะทำให้ด้วงตายภายใน 24 ชั่วโมงและมีฤทธิ์ตกค้างบนผนังอาคาร บ้านเรือน ประมาณ 6 เดือน ด้วงจะได้ไม่มาเกาะอีก สารเคมีดังกล่าวไม่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์เลี้ยง สามารถพ่นซ้ำได้ทุก 6 เดือน โดยหาซื้อได้ที่ร้านขายอุปกรณ์การเกษตรทั่วไป” นายแพทย์โสภณ กล่าว
          **********************        29 พฤษภาคม 2557


   
   


View 17    29/05/2557   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ